News

2560 อสังหาไล่ล่าอนาคต ปรุงสูตรสำเร็จแผนลงทุน รีโมเดลองค์กร-ธุรกิจ-จับคู่ JV

LivingInsider Report 2017-03-17 12:10:55

 

 

เมกะดีลจอยต์เวนเจอร์ (เจวี) ที่ดินแปลงหัวมุมโรงแรมดุสิตธานี จุดตัดถนนสีลม+พระราม 4 ระหว่างยักษ์ 2 วงการ "กลุ่มดุสิตธานี+เซ็นทรัลกรุ๊ป" คอนเฟิร์มการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเข้าสู่โลกใบใหม่ของวงการพัฒนาที่ดินเมืองไทย ท่ามกลางการปรับตัวที่มีทั้งปรับเล็ก-ปรับใหญ่ของดีเวลอปเปอร์ผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ว่ากันว่าเป็นการปรับตัวระลอกใหญ่และฉับพลันในรอบ10ปีด้วยซ้ำไป
 


ที่ดินแพงตัวเร่งปฏิกิริยา
 


"ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต"กรรมการผู้จัดการกลุ่มพฤกษาพรีเมี่ยมบมจ.พฤกษาโฮลดิ้ง กับหมวกอีกใบในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย ขึ้นเวทีสัมมนาหลายต่อหลายเวที นำเสนอภาพรวมและแนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
 


โดยสรุปแบบฟันธงว่า ปี 2559 เป็นปีแห่งการปรับโครงสร้างองค์กร มีการดาหน้าเข้ามาลงทุนจากบิ๊กเพลเยอร์ธุรกิจอื่น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงหน้าตาในเรื่องการควบรวมกิจการ หรือการเทกโอเวอร์
 


นำไปสู่ปี 2560 ที่หนีไม่พ้นต้องให้นิยามว่า เป็น "ปีแห่งการปรับโครงสร้างธุรกิจ" ของพร็อพเพอร์ตี้เซ็กเตอร์เมืองไทย
 


"ในวงการมีคำพูดว่าทำเลไหนที่ดินวาละ 3 แสน จะเห็นซื้อปั๊มน้ำมันทุบทิ้งทำคอนโดฯ, วาละ 5 แสนซื้อตึกแถว, วาละ 7 แสนซื้อตึกเก่า 5 ชั้น, วาละ 1 ล้านทุบโรงแรม 2-3 ดาว ถ้าวาละ 1.5-2 ล้านอย่างในปัจจุบัน ทุบโรงแรม 4-5 ดาว เพราะของเก่าอัพเกรดก็ยาก อัพราคายิ่งยากกว่า สู้ทุบแล้วสร้างใหม่ไปเลยคุ้มกว่า"
 


รถไฟฟ้าเปลี่ยนเมือง-ทำเล
 


ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าหลากสีที่อยู่ระหว่างเปิดไซต์ก่อสร้างสายใหม่ทั่วกรุง รวมทั้งรถไฟฟ้าสายปัจจุบันเป็นตัวจุดชนวนให้มีการลงทุนอย่างคึกคัก เพราะมีกำหนดเปิดบริการระหว่างปี 2561-2566 เป็นต้นไป แนวรถไฟฟ้าพาดผ่านทั้งย่านใจกลางเมืองเชื่อมถึงโซนรอบนอก
 


สูตรธุรกิจที่ลงตัวจึงออกมาในรูปแบบของโปรดักต์จะต้องเป็นโครงการมิกซ์ยูสส่วนผู้ลงทุนเป็นกลุ่มยักษ์ธุรกิจด้วยกันทั้งสิ้น
 


อาทิกลุ่มเจ้าสัวเจริญสิริวัฒนภักดีจับจองสัญญาที่ดินเช่าแปลงโรงเรียนเตรียมทหารเดิม88ไร่ ในนามบริษัทยูนิเวนเจอร์กับทีซีซี แอสเซ็ทส์ ล่าสุดกำลังออกแบบโครงการควบคู่กับแปลงหัวมุมศรีย่าน ที่ดินเช่าของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ กำลังก่อสร้างโครงการสามย่านมิตรทาวน์ มูลค่า 8,500 ล้านบาท

 

 

มองเห็นเจ้าสัวเจริญก็ต้องขานชื่ออีกกลุ่มของตระกูลเจียรวนนท์ ในนามบริษัทแมกโนเลียส์ ไฟน์เนสท์ คอร์ปอเรชั่น ที่ปิดดีลซื้อปิยรมย์ สปอร์ตคลับกับตึกแถว 22 ห้อง ปากซอยสุขุมวิท 101/1 ลงทุนโครงการวิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน มูลค่า 30,000 ล้านบาท
 


หรือจะเป็นกรณีที่ดินดุสิตธานีเดิม รวมแปลงทำให้ใหญ่ขึ้นเป็น 23 ไร่ เตรียมทุบตึกเก่าทิ้งในปีหน้าเพื่อสร้างอภิโปรเจ็กต์ใหม่ มูลค่า 36,000 ล้านบาท เป็นต้น
 


รายใหญ่ต้องจับมือกัน
 


หนึ่งในการปรับโครงสร้างธุรกิจที่ถูกมองว่าเป็นการต่อยอดขยายผลมาจากการตัดขายแลนด์แบงก์บางส่วนระหว่างดีเวลอปเปอร์กับดีเวลอปเปอร์ด้วยกันเรียกว่าเป็นรูปแบบของ"แลนด์ดีเวลอปเมนต์"
 


โดย"ชายนิดอรรถญาณสกุล" ซีอีโอ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค อัพเดตให้ฟังว่า เพอร์เฟคตัดขายแลนด์แบงก์โซนแจ้งวัฒนะให้กับบิ๊กแบรนด์ 3 เจ้า ประกอบด้วย ค่ายแสนสิริ, เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น, พฤกษา โฮลดิ้ง เฉลี่ยแปลงละ 90 ไร่บวกลบ
 


เมื่อรวมกับเพอร์เฟคด้วย ทำให้ที่ดินแปลงดังกล่าวมีโครงการที่อยู่อาศัยของ 4 บิ๊กแบรนด์บนผืนดินเดียวกัน มีการวางมาสเตอร์แพลนร่วมกัน เพื่อไม่ให้หน้าตาโครงการในอนาคตกระโดดห่างออกจากกันเกินไป มูลค่าโครงการไม่ต่ำกว่า 10,000-15,000 ล้านบาท
 


"ผมว่าทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อง่าย มาที่เดียวคุณซื้อแบรนด์ไหนก็ได้" และมองด้วยว่า "...คุณเคยเห็นรายใหญ่จับมือกันไหม ธุรกิจในอนาคต ผมว่ารายใหญ่ต้องจับมือกันเยอะขึ้น"
 


LPN โมเดล ถอยเพื่อเดินหน้า
 


แรงกดดันที่บังคับให้บริษัทต้องปรับโครงสร้าง ยังรวมถึงปัจจัยภายนอกที่กระทบเข้ามาถึงภายในองค์กร ตัวอย่างที่ดีที่สุดให้ดูเจ้าพ่อคอนโดฯตลาดกลาง-ล่าง (ห้องชุดราคา 1-3 ล้าน) บมจ.แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ หรือ LPN
 


"ทิฆัมพร เปล่งศรีสุข" ซีอีโอ LPN พูดถึงโมเดลธุรกิจตอนแรกเริ่มก่อตั้งบริษัทว่า เน้นจับตลาดกลาง-ล่าง เพราะมองว่าคนที่ขาดแคลนที่อยู่อาศัยและมีรายได้น้อยไม่ได้รับความสนใจและความใส่ใจจากภาครัฐ LPN จึงขอทำหน้าที่เป็น "การเคหะฯ" ภาคเอกชน
 


อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องหลายปี ทำให้โมเดลธุรกิจทำคอนโดฯสำหรับผู้มีรายได้น้อยกลายเป็นภาระมากกว่าจะเป็นโบนัสให้กับบริษัท เพราะลูกค้ามียอดปฏิเสธสินเชื่อสูงเป็นประวัติการณ์ สต๊อกคงค้างล้นทะลักมากที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท
 


การปรับโครงสร้างองค์กรและธุรกิจจึงเป็นหนทางที่ต้องเดินในยุคไทยแลนด์4.0ภายใต้แนวคิดYearofShiftหนึ่งในไฮไลต์ของการเปลี่ยนแปลงก็คือ มีการผลักดันให้บริษัทลูก 5 แห่ง ออกมารับงานภายนอกเครือ LPN มากขึ้น
 


"บริษัทไม่ได้ย่ำแย่ แต่ยังติดกับดักความสำเร็จ 20 ปีที่ผ่านมา ปีนี้ 2560 ต้องสร้างสมดุลระหว่างประสิทธิภาพ ต้องนำภาพ Year of Shift ออกมาให้คนภายนอกได้รับรู้"
 


วิสัยทัศน์ครั้งนี้เป็นการวางแผนธุรกิจเชิงป้องกัน เพราะ...
 


"พูดตลอดเวลาว่าเรากล้าจะพูดเรื่องนี้เพราะเราต้องการก้าวไปสู่ความยั่งยืน ถ้าไม่กล้าพูดก็จะนำไปสู่สิ่งตรงกันข้ามที่คาดเดาได้ว่าจะไปสู่สิ่งที่เลวร้ายได้"

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1489570569

 

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

Article Other

livinginsider livinginsider