News

ยุบไฮสปีด-อัพเกรดแอร์พอร์ตลิงก์วิ่งทะลุระยอง

LivingInsider Report 2017-03-16 15:27:18

 

 

รัฐเร่งลงทุนรถไฟเชื่อม "ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา" ดูดนักลงทุนบูม EEC พร้อมรื้อใหญ่ไฮสปีดเทรน ควบรวม ระบบแอร์พอร์ตลิงก์ ขยายเส้นทางถึงระยอง ประหยัดงบได้ถึง 40,000 ล้านบาท ดึงเอกชน PPP ก่อสร้าง ระบบ ขบวนรถ จับตา "CP-BTS" ชิงดำ ชี้เป้า 16 บริษัทชั้นนำดึงลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ

 

 

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานภายหลังการประชุม คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) สิ้นสุดลง โดยมีข้อเสนอจาก กรศ.ให้รวมโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ กับโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง ให้เป็นโครงการเดียวกัน มีผู้เดินรถรายเดียวกัน (Single Project Single Operator) เพื่อให้เชื่อมโยง 3 สนามบิน คือ สนามบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ในฐานะเมืองการบินภาคตะวันออก (Special EEC Zone : Eastern Aerotropolis หรือ EEC-EA) เข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ
 


ยืดแอร์พอร์ตลิงก์ถึงระยอง
 


ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า คณะกรรมการได้ให้เวลาการรถไฟฯ 2 เดือนพิจารณาความเหมาะสม รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ กับรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 193 กม. จะใช้ระบบไหนมารองรับการเดินทางเชื่อมระหว่าง 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา
 


รวมถึงศึกษารูปแบบลงทุน PPP เนื่องจากโครงการนี้จะให้เอกชนร่วม PPP ทั้งงานโยธา ระบบ และขบวนรถ เหมือนกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) โดยรับสนับสนุนเงินลงทุนไม่เกินค่าก่อสร้าง ส่วนเอกชนได้สัมปทานเดินรถและพัฒนาเพื่อเชิงพาณิชย์สถานีระยะเวลา 30-50 ปี
 


"เป้าหมายก็คือ ต้องนั่งรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน จากดอนเมืองไปถึงอู่ตะเภาแบบไร้รอยต่อ โดยที่ผู้โดยสารไม่ต้องลงเปลี่ยนถ่ายรถที่สถานีลาดกระบัง ซึ่งเป็นจุดต้นทางของรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ดังนั้นรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์จึงเป็นโครงการที่เหมาะสมที่สุด โดยสร้างไปถึงอู่ตะเภาและระยอง ซึ่งช่วงในเมืองจากดอนเมือง มักกะสัน สุวรรณภูมิ จะวิ่งด้วยความเร็ว 160-180 กม./ชม. แต่เมื่อเลยลาดกระบังแล้วก็เพิ่มความเร็วเป็น 200-250 กม./ชม. เท่ากับไฮสปีดเทรนได้ และให้เอกชนรายเดียวเป็นผู้เดินรถ" แหล่งข่าวกล่าว
 


ลดต้นทุน 40,000 ล้านบาท
 


แหล่งข่าวกล่าวไปอีกว่า นอกจากนี้ ต้นทุนก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงก์ จะ "ถูกกว่า" ไฮสปีดเทรนสายกรุงเทพฯ-ระยอง ประมาณ 40,000 ล้านบาท หรือจาก 152,528 ล้านบาท มาอยู่ที่ 110,000-120,000 ล้านบาท
 


"ถ้าไม่มีรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน จะทำให้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไม่ครบถ้วน จึงต้องเร่งสรุปเพื่อเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุน ที่ผ่านมากลุ่ม CP ก็สนใจจะเข้ามาลงทุนโครงการไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-ระยอง ส่วนกลุ่ม BTS สนใจจะลงทุนแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยายพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง"
 


จับตา CP-BTS ชิงดำ
 


ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ก่อนหน้านี้ กลุ่ม CP ได้ส่งรายงานผลสำรวจพื้นที่และข้อเสนอแนะให้กับการรถไฟฯ หลังยื่นข้อเสนอแสดงความสนใจลงทุนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง โดยร่วมกับพันธมิตรคือ บจ.ซิติก คอนสตรัคชั่นจากฮ่องกง บริษัทด้านก่อสร้าง ออกแบบ ที่ปรึกษา มีสถาบันการเงินสนับสนุน และ บจ.ไหหนาน กรุ๊ป เชี่ยวชาญด้านก่อสร้างท่าเรือ สนามบิน และรถไฟ
 


ผลการลงพื้นที่พบว่า แนวเส้นทางทับซ้อน 4 โครงการ คือ ต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ไปสนามบินอู่ตะเภา, รถไฟไทย-จีนช่วงฉะเชิงเทรา-มาบตาพุด, รถไฟไทย-ญี่ปุ่นจากกรุงเทพฯ-แหลมฉบัง และรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ทำให้มีข้อจำกัดในการก่อสร้าง จึงมีข้อเสนอว่า ถ้าจะทำให้โครงการเร็วขึ้น บริษัทจะลงทุนเฉพาะงานระบบรถและขอเช่ารางของการรถไฟฯแทน
 


ปั้นสถานีมักกะสันศูนย์กลาง
 


แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม กรศ.ยังให้มีการปรับปรุงแอร์พอร์ตลิงก์ปัจจุบันรองรับ และให้สถานีมักกะสัน เป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การเชื่อมโยงกรุงเทพฯกับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือการเป็น "EEC Gateway" และส่งเสริมการเชื่อมโยง 3 สนามบินโดยรถไฟอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาพื้นที่สถานีมักกะสันให้รองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น
 


ชี้เป้าบริษัทระดับโลก
 


สำหรับการชักจูงนักลงทุนรายสำคัญของโลกให้เข้ามาลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นั้น ล่าสุดคณะกรรมการบริหารระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ได้กำหนดให้มี "ผู้รับผิดชอบ (Account Man-agement)" ในแต่ละกลุ่มคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อจัดทำแผนเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) โดยกำหนดรายชื่อนักลงทุนที่จะเป็นเป้าหมาย ดังต่อไปนี้
 


1) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ได้แก่ บริษัท Tesla (สหรัฐ), บริษัท Shanghai Motor (จีน), บริษัท BMW (เยอรมนี), บริษัท Suzuki (ญี่ปุ่น), บริษัท Mercedes-Benz (เยอรมนี) 2) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เป้าหมายคือ บริษัท Foxconn (ไต้หวัน) 3) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ บริษัท Reliance Group (อินเดีย), บริษัท Otsuka (ญี่ปุ่น) 4) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ บริษัท Kuka (ญี่ปุ่น)
 


5) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร บริษัทเป้าหมายนักลงทุนคือ บริษัท Fujifilm (ญี่ปุ่น) 6) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน บริษัท Airbus (ฝรั่งเศส), บริษัท Boeing(อังกฤษ), บริษัท Tianjin(จีน) และ 7) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมดิจิทัล บริษัท Lazada (สิงคโปร์), บริษัท Alibaba (จีน), บริษัท IZP Group (จีน)
 


โดยสิทธิประโยชน์ที่จะเปิดการเจรจาตรงกับบริษัทเหล่านี้จะอยู่ภายใต้กฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560-พ.ร.บ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พ.ศ. 2560 และร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1489554745

 

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

Article Other

livinginsider livinginsider