รายการโปรด
คงเป็นเรื่องง่ายหากเจ้าของทรัพย์สินเขียนพินัยกรรมไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ว่าใครบ้างที่จะได้รับมรดก และแต่ละคนได้รับในส่วนใด เพราะสามารถลดปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัวได้ แต่ถ้าไม่ได้ทำพินัยกรรมเอาไว้ มรดกก็จะตกทอดไปสู่ทายาท แล้วใครบ้างล่ะที่จะได้มรดกนั้นไปครอง?
บ้าน-ที่ดินมรดก ตกทอดถึงใครบ้าง?
หากผู้เสียชีวิตไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ มรดกก็จะตกทอดไปสู่ผู้รับมรดกลำดับที่ 1 คือลูกที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ถ้าไม่มีลูก ผู้ที่มีสิทธิรับมรดกตามลำดับขั้นถัดไป ได้แก่ ลำดับที่ 2 พ่อ แม่ ลำดับที่ 3 พี่หรือน้องที่มีทั้งพ่อและแม่คนเดียวกัน ลำดับที่ 4 พี่น้องที่มีพ่อหรือแม่คนเดียวกัน ลำดับที่ 5 ปู่ ย่า ตา ยาย และลำดับที่ 6 ลุง ป้า น้า อา
ในกรณีที่ลูกของเจ้าของมรดกเสียชีวิตไปก่อนแล้ว หลาน เหลน หรือลื้อ (ลูกของเหลน) ก็จะรับมรดกแทน ส่วนคนที่ไม่มีลูก มรดกก็จะตกทอดไปสู่พ่อแม่ นอกจากนี้ ยังจะต้องมีการแบ่งมรดกทั้งหมดกับคู่สมรสของผู้เสียชีวิตด้วย
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ คือ นาย A เสียชีวิตโดยที่ไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ก่อน แล้วนาย A มีลูก 2 คน ขณะที่คู่สมรส และพ่อแม่ของนาย A ก็ยังมีชีวิตอยู่ จะต้องทำการแบ่งสินสมรสให้กับคู่สมรสก่อนเหมือนกับการหย่า หลังจากหักไปเรียบร้อยแล้ว สมมติว่ามรดกมีมูลค่ารวม 15 ล้านบาท คู่สมรส ลูกทั้ง 2 คน พ่อ และ แม่ ก็จะได้มรดกคนละเท่า ๆ กันคือ 3 ล้านบาท
อีกกรณี หากนาย A ไม่มีลูก แต่มีคู่สมรส พ่อแม่ และพี่น้องที่พ่อและแม่เดียวกัน คู่สมรสจะได้รับมรดกไปครึ่งหนึ่ง ส่วนคนอื่น ๆ ก็นำมรดกอีกอีกครึ่งหนึ่งไปแบ่งเท่า ๆ กัน แต่ถ้านาย A ไม่มีลูก แล้วพ่อแม่ก็เสียชีวิตไปก่อน มีเพียงคู่สมรส กับพี่น้องต่างพ่อหรือแม่ คู่สมรสจะได้รับมรดก 2 ใน 3 ส่วน จากนั้นทายาทที่เหลือตามลำดับขั้น 4-6 ก็นำมรดกไปแบ่งเท่า ๆ กัน
หลักฐานที่ต้องใช้ในการรับมรดก
หลักฐานที่ใช้รับมรดกบ้าน ที่ดิน ได้แก่ โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองทำประโยชน์ หรือหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด (ต้นฉบับ) บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน หลักฐานการเสียชีวิตของเจ้ามรดก เช่น มรณบัตร และพินัยกรรม (ถ้ามี)
ในส่วนของผู้มาขอรับหากเป็นคู่สมรส จะต้องมีทะเบียนสมรสมายืนยัน แต่ถ้าเป็นพ่อเจ้าของมรดก จะใช้ทะเบียนสมรสกับแม่ของเจ้ามรดก หรือหลักฐานการรับรองบุตรในการยืนยันตัวตน และถ้าเป็นบุตรบุญธรรมมาขอรับมรดก ต้องแสดงหลักฐานการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมด้วย
นอกจากนี้ ถ้าบ้าน ที่ดินมรดกมีกรณีพิพาท จะต้องนำสัญญาประนีประนอมยอมความ หรือคำพิพากษาอันถึงที่สุดไปแสดง และถ้ามีผู้มีสิทธิรับมรดกบางคนเสียชีวิตไปแล้ว ต้องมีหลักฐานการเสียชีวิตของคนนั้นมายืนยัน
ค่าธรรมเนียมการโอนมรดก
1.ค่าคำขอ กรณีที่ดิน แปลงละ 5 บาท
2.ค่าคำขอ กรณีห้องชุด ห้องชุดละ 20 บาท
3.ค่าธรรมเนียม 2% ของราคาประเมิน กรณีโอนมรดกให้กับบุตรบุญธรรม หรือญาติที่มีสิทธิ์ได้รับมรดก
4.ค่าธรรมเนียม 0.5% ของราคาประเมิน กรณีเป็นการโอนมรดกระหว่างบุพการีกับผู้สืบสันดาน (ลูก) หรือคู่สมรส
5.ค่าธรรมเนียม 1% ของราคาจำนวนเงินค่าเช่าตามระยะเวลาการเช่าที่เหลืออยู่ กรณีโอนมรดกสิทธิการเช่า
6.ค่าธรรมเนียม (ไม่มีทุนทรัพย์) กรณีที่ดิน แปลงละ 50 บาท กรณีโอนมรดกสิทธิการไถ่ โอนมรดกสิทธิการรับจำนอง โอนมรดกสิทธิเหนือพื้นดิน
7.ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ของราคาประเมิน กรณีโอนมรดกให้แก่ทายาทตามพินัยกรรมซึ่งไม่ใช่ทายาทโดยธรรมอยู่ในหลักเกณฑ์เสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ
8.ค่ามอบอำนาจ กรณีที่ดิน เรื่องละ 20 บาท
9.ค่ามอบอำนาจ กรณีห้องชุด เรื่องละ 50 บาท
การรับมรดกเป็นบ้าน-ที่ดิน ต้องเสียภาษีเท่าไหร่
มรดกไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ดิน หรือทรัพย์สินใด ๆ ก็ตาม จะเสียภาษีมรดกก็ต่อเมื่อมีมูลค่าสุทธิเกิน 100 ล้านบาท โดยผู้รับมรดกที่มีความสัมพันธ์กันทางสายเลือดกับเจ้ามรดก ได้แก่ ลูก หลาน พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา จะต้องเสียภาษีมรดกในอัตราคงที่ 5%
แต่ถ้าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือด จะต้องเสียภาษีมรดก 10% ส่วนกรณีที่คู่สมรสตามกฎหมายเป็นผู้รับมรดก หรือมรดกนั้นถูกยกให้กับหน่วยงานของรัฐ จะได้รับการยกเว้นภาษีมรดก
ยกตัวอย่างวิธีคำนวณภาษี กรณีทายาทเป็นผู้รับมรดก โดยที่มรดกมีมูลค่าสุทธิอยู่ที่ 200 ล้านบาท สูตรคำนวณคือ (200,000,000 - 100,000,000) × 5% เท่ากับว่าผู้รับมรดกจะต้องเสียภาษี 5,000,000 บาท และถ้าผู้รับมรดกไม่ได้เกี่ยวข้องกันทางสายเลือด ก็ให้เปลี่ยนเป็นคูณ 10%
เหตุการณ์ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ดังนั้นหากมีทรัพย์สิน ควรทำพินัยกรรมอย่างชัดเจน เพื่อลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องศึกษาเรื่องค่าธรรมเนียมการโอนมรดก ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ดิน ห้องชุด หรือทรัพย์สินต่าง ๆ รวมถึงภาษีมรดกไว้ เพื่อที่จะได้ดำเนินการได้อย่างถูกต้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
เจาะลึกการคํานวณค่าโอนที่ดินมรดก มีอะไรบ้างที่เจ้าของที่ดินต้องรู้
อัปเดต ค่าโอนที่ดิน 2567 ต้องจ่ายกี่บาท เช็กให้ชัวร์ก่อนโอน
รู้จัก ที่ดิน ส.ป.ก. คืออะไร ซื้อขายได้ไหม สามารถทำอะไรได้บ้าง
ใช้ภาษาเข้าใจง่ายดีค่ะ
ดีมากๆเลยค่ะ ลงบ่อยๆนะคะ
เขียนบทความน่าอ่านมากเลย
ให้ข้อมูลดี เอาไว้ศึกษาดีค่ะ
แจ่มเลยค่ะ รีวิวได้ครบถ้วน