News

ปิดดีลโปรเจ็กต์ไฮสปีดส่งท้ายปี ‘ซี.พี.’ชนะห่าง‘บีทีเอส’ 5 หมื่นล้าน

Gott 2018-12-24 01:17:41

ปิดดีลอภิมหาโปรเจ็กต์ส่งท้ายปี กลุ่ม ซี.พี.เสนอ 117,227 ล้าน ซิวไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ต่ำกว่าเพดาน ครม. 2.1 พันล้าน ทิ้งห่างบีทีเอส 5.2 หมื่นล้าน ให้รัฐอุดหนุนปีละ 14,965 ล้าน คณะกรรมการคัดเลือกเตรียมเปิดซอง “ข้อเสนอพิเศษ” ต้นปีหน้าหวังเซ็นสัญญา 31 ม.ค. 62

 

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ประธานคณะกรรมการคัดลือกเปิดเผยว่า ที่ประชุม (21 ธ.ค. 261) คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุน 224,544 ล้านบาท พิจารณาเอกสารชี้แจงและตรวจสอบซองที่ 3 สรุปข้อเสนอของกลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตร คือ บมจ.อิตาเลียนไทย บริษัท CRCC บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด แผนการเงินสอดคล้องทั้งการเดินรถ ปริมาณผู้โดยสาร และอัตราค่าโดยสาร

 

ทิ้งห่างบีทีเอส

โดยกลุ่ม ซี.พี.ขอเงินสนับสนุนจากรัฐต่ำสุดอยู่ที่ 117,227 ล้านบาท หรือต่ำกว่า 2,198 ล้านบาท จากกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ 119,425 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่ากลุ่ม BSR ของ บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ บมจ.ซิโน-ไทยฯ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี 52,707 ล้านบาท โดยกลุ่มนี้ขอให้รัฐสนับสนุน 169,934 ล้านบาท

 

หากคิดเป็นจำนวนเงินรวมดอกเบี้ย 10 ปี ที่เอกชนจัดหาเงินกู้มาให้ในส่วนของกลุ่ม ซี.พี.อยู่ที่ 149,652 ล้านบาท ต่ำกว่ากลุ่มบีทีเอสที่เสนอ 238,330 ล้านบาท อยู่ที่ 88,678 ล้านบาท โดยกลุ่ม ซี.พี.ผู้เสนอราคาต่ำสุดให้รัฐจ่ายเงินสนับสนุนเป็นระยะเวลา 10 ปี จำนวน 14,965 ล้านบาท ตั้งแต่ปีที่ 6-15

 

“ขอยืนยันทางกลุ่ม ซี.พี.ยังไม่มีเงื่อนไขอะไรเพิ่มเติม รวมทั้งการรับประกันรายได้หรือกำไร” นายวรวุฒิกล่าวและว่า

 

เดินหน้าเปิดซองต่อ

“วันที่ 24 ธ.ค.นี้ คณะกรรมการคัดเลือกจะเปิดซองที่ 4 เป็นข้อเสนอเพิ่มเติมของกลุ่ม ซี.พี. เพราะเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด โดยจะพิจารณาข้อเสนอที่เป็นประโยชน์กับรัฐและประชาชน จากนั้นวันที่ 3 ม.ค. 2562 จะเจรจาในรายละเอียดต่าง ๆ คาดว่าจะได้ข้อสรุปประมาณกลางเดือน ม.ค. และเซ็นสัญญาภายในวันที่ 31 ม.ค. 2562 ได้ตามเป้า อย่างไรก็ตาม หากเจรจาแล้วไม่มีข้อยุติ จะเชิญกลุ่มบีทีเอสที่ผ่านการพิจารณาซอง 3 มาเปิดซองที่ 4 และเจรจาต่อไป เพื่อไม่ให้โครงการต้องเริ่มกระบวนการเปิดประมูลใหม่” นายวรวุฒิกล่าวและว่า

 

ส่วนอัตราค่าโดยสารและปริมาณผู้โดยสาร ทางกลุ่ม ซี.พี.เสนอมาใกล้เคียงกับผลการศึกษาที่ ร.ฟ.ท.ศึกษาไว้ โดยในปี 2566 ซึ่งเป็นปีแรกเปิดบริการจะมีผู้โดยสารช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 103,920 เที่ยวคนต่อวัน และช่วงสุวรรณภูมิ-ระยอง อยู่ที่ 65,630 เที่ยวคนต่อวัน ด้านอัตราค่าโดยสารจากมักกะสัน-พัทยา อยู่ที่ 270 บาท/เที่ยว และจากมักกะสัน-อู่ตะเภาอยู่ที่ 330 บาท/เที่ยว

 

นายวรวุฒิกล่าวอีกว่า การพิจารณาซองที่ 3 ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน จะพิจารณา 8 ด้าน ได้แก่ 1.บัญชีปริมาณงาน รวมภาษีอากร ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายทั้งหมด 2.แผนธุรกิจในการดำเนินโครงการ 3.แผนการเงิน 4.การจัดหาแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการดำเนินโครงการ 5.ทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินโครงการและกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สินดังกล่าว

 

6.การคำนวณผลตอบแทนทางการเงินของโครงการตลอดอายุของสัญญาร่วมทุน 50 ปี 7.การคำนวณผลประโยชน์ที่ภาครัฐจะได้รับและการขอรับเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ และ 8.อัตราค่าโดยสาร

 

แถม 300 ล้านให้รัฐ

รายงานข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่ม ซี.พี.นอกจากจะขอรัฐอุดหนุนค่างานโยธาต่ำแล้ว ในซองที่ 3 กลุ่ม ซี.พี.ยังเสนอรายได้เพิ่มเติมให้รัฐอีกปีละ 30 ล้านบาท รวม 10 ปี เป็นวงเงิน 300 ล้านบาท อีกทั้งยังเสนอผลตอบแทนรายได้การพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานีมักกะสัน 150 ไร่ และสถานีศรีราชา 25 ไร่ให้รัฐ เพิ่มเติมจากค่าเช่าที่ดิน ในกรณีที่มีรายได้เกินจากที่ประมาณการไว้เป็นระยะเวลา 10 ปี เกือบ 10,000 ล้านบาท นอกจากจากค่าเช่าที่จ่ายให้ตลอดอายุสัญญา 50 ปี 56,138 ล้านบาทแล้ว

 

มั่นใจ 5 ปีเสร็จ

แหล่งข่าวจากกลุ่ม ซี.พี.เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการคัดเลือกทำหนังสือแจ้งมาว่า กลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตรผ่านการพิจารณาซองที่ 3 และจะเปิดซองที่ 4 ข้อเสนอเพิ่มเติมในวันที่ 24 ธ.ค. เพื่อเจรจาต่อรองกันต่อไป ทั้งนี้ทางกลุ่มขอยืนยันว่า ราคาที่เสนอนั้นสามารถดำเนินการโครงการให้ก่อสร้างแล้วเสร็จใน 5 ปี ได้ตามกำหนด

 

โดยกลุ่มบริษัทมีสถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศให้การสนับสนุนร่วม 10 แห่ง ได้แก่ Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport and Urban Development (JOIN) จากประเทศญี่ปุ่น, องค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า), ธนาคาร ICBC จากประเทศจีน และสถาบันการเงินในประเทศอีก 4-5 ราย

 

นอจากนี้ ทางกลุ่มมีความพร้อมทั้งการก่อสร้าง การเดินรถ และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมีพันธมิตรที่มีประสบการณ์ โดย ซี.พี.จะเป็นผู้พัฒนาเชิงพาณิชย์และอสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่มักกะสัน ศรีราชา และที่ดินแปลงอื่น ๆ งานการก่อสร้างจะให้ บมจ.อิตาเลียนไทย ช.การช่าง และ CRCC เป็นผู้ก่อสร้าง

 

ส่วนการบริหารโครงการให้บริษัท Ferrovie dello Stato Italiane หรือ FS จากอิตาลี มีรัฐบาลถือหุ้น 100% มีความเชี่ยวชาญด้านบริหาร บำรุงรักษาระบบรางและรถไฟความเร็วสูงมายาวนาน คัดเลือกระบบและบริหารต้นทุนโครงการให้ ทั้งรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่จะต้องยกเครื่องใหม่ และรถไฟความเร็วสูง โดยจะมี BEM มาช่วยดำเนินการ

 

ขณะที่ตัวระบบและขบวนรถ ทาง ซี.พี.มีซัพพลายเออร์หลายรายให้เลือก ทั้งเอเชียและยุโรป ไม่ว่าซีเมนส์จากเยอรมนี, ฮุนได โรเทม จากเกาหลี ที่ได้ไลเซนส์อัลสตรอมของฝรั่งเศส, ทาลาสผู้ผลิตระบบจากฝรั่งเศส และ CRRC รัฐวิสาหกิจและผู้ผลิตระบบรถไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน ที่สนใจร่วมติดตั้งและผลิตขบวนรถให้ ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้ระบบและรถของจีน

 

เนื้อหาจาก : https://www.prachachat.net/property/news-268732

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider