News

รถไฟฟ้ารางเบา 1.3 แสน ล. นำร่องแก้รถติด ภูเก็ต

LivingInsider Report 2017-08-23 16:55:56

 

 

ยังคงต้องลุ้น จะเป็นเพียงแค่ผลการศึกษาหรือจะเกิดขึ้นได้จริง สำหรับ “เมกะโปรเจ็กต์” แก้รถติดหัวเมืองใหญ่ในภูมิภาค แต่ที่ผ่านมา “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” มีการศึกษาโครงการมาอย่างต่อเนื่อง 

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุม “คจร.-คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก” มี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นประธาน ได้รับทราบผลการดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะใน 5 เมืองภูมิภาค เพื่อแก้ปัญหาจราจรที่ติดขัด เป็นเงินลงทุนร่วม 131,525 ล้านบาท 

 

เริ่มจาก “ภูเก็ต” แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวมากกว่า 12 ล้านคน ผลการศึกษาโครงการแล้วเสร็จเมื่อเดือน พ.ค. 2560 รูปแบบที่เคาะออกมาเป็นรถไฟฟ้ารางเบาหรือไลต์เรล เปิดเส้นทางสายใหม่จากสุราษฎร์ธานี–พังงา–ภูเก็ต ระยะทาง 58.25 กม. เงินลงทุนทั้งโครงการ 39,406.06 ล้านบาท 

 

จุดเริ่มต้นอยู่สถานีรถไฟท่านุ่น จ.พังงา เชื่อมกับระบบรถไฟสายใหม่เส้นทาง จ.สุราษฎร์ธานี ถึง จ.พังงา ส่วนจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ทางเหนือของห้าแยกฉลอง บน ถ.เจ้าฟ้าตะวันออก ห่างจากห้าแยกฉลอง ประมาณ200 เมตร มี 24 สถานี เป็นสถานียกระดับ 1 สถานี ที่สนามบินภูเก็ต เป็นสถานีใต้ดิน 1 สถานี ที่สถานีถลาง และมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง บริเวณ อ.ถลาง

 

ล่าสุดโครงการได้ถูกบรรจุไว้ในโครงการตามมาตรการ PPP Fast Track ปี 2560 ของกระทรวงคมนาคม มี“รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการลงทุนและการก่อสร้างต่อไป แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 เฟส ระยะแรกจากท่านุ่น–สนามบินภูเก็ต และระยะที่ 2 จากสนามบินภูเก็ต–ห้าแยกฉลอง 

 

ส่วน “ขอนแก่น” จะเป็นรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบาเช่นกัน แนวเส้นทางเชื่อมการเดินทางแนวเหนือ–ใต้ จากบ้านสำราญ–บ้านท่าพระ ระยะทางประมาณ 22.8 กม. มี 18 สถานี มีเทศบาลและภาคเอกชนในจังหวัดสนใจจะลงขันกันลงทุน 15,000 ล้านบาท หวังจุดประกายโครงการให้แจ้งเกิด

 

โดยจัดตั้งบริษัท ขอนแก่น ทรานซิทซิสเต็มส์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท เดินหน้าโครงการ ล่าสุดอยู่ระหว่างรอการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) 

 

ขณะที่ “เชียงใหม่” ผลการศึกษาคืบหน้า 90% จะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค. 2560 รูปแบบโครงการที่เหมาะสมเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา ขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างเปรียบเทียบคัดเลือกแนวเส้นทางในเขตเมือง มี 3 เส้นทาง ระหว่าง เป็นทางวิ่งบนดิน และใต้ดินร่วมกันเงินลงทุนรวม 106,895 ล้านบาท และทางวิ่งบนดินทั้งหมด เงินลงทุนรวม 28,419 ล้านบาท 

 

ได้แก่ 1.สายสีแดงโรงพยาบาลนครพิงค์–ศูนย์ราชการเชียงใหม่–สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี–ศูนย์ประชุมนานาชาติ–สถานีตำรวจช้างเผือก–แยกข่วงสิงห์–มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่–สถานีขนส่งช้างเผือก–โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม–โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่–ร.ร.วัฒโนทัยพายัพ–สนามบินเชียงใหม่–สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่–ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีหางดง 

 

2.สายสีเขียวแยกรวมโชค–แยกแม่โจ้–ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล–สถานีขนส่งอาเขต–โรงพยาบาลแมคคอร์มิคเชียงใหม่–ร.ร.ดาราวิทยาลัย–ร.ร.ปรินส์รอแยลส์วิทยาลัย–ตลาดวโรรส (กาดหลวง)-เทศบาลนครเชียงใหม่–ย่านเชียงใหม่ไนท์บาซาร์–ร.ร.เรยีนาเชลีวิทยาลัย–ร.ร.พระหฤทัย–ร.ร.มงฟอร์ตวิทยาลัย–เชียงใหม่แลนด์–ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา–เชียงใหม่แอร์พอร์ต–มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น–สนามบินเชียงใหม่

 

และ 3.สายสีน้ำเงิน สวนสัตว์เชียงใหม่–มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา–มหาวิทยาลัยเชียงใหม่–แยกตลาดต้นพยอม–รพ.มหาราชนครเชียงใหม่–วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร–ประตูท่าแพ–ย่านเชียงใหม่ไนท์บาซาร์ตลาดสันป่าข่อย–สถานีรถไฟเชียงใหม่–แยกหนองประทีป–ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีดอนจั่น–ห้างสรรพสินค้าพรอมเมนาดา

 

สำหรับ “นครราชสีมา” ประตู่สู่ภาคอีสาน ผลศึกษาใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเบา เป็นระบบหลักในการเดินทางและมีระบบรถโดยสาร (Bus Technology) เป็นระบบรอง เงินลงทุนรวม 32,600 ล้านบาท 

 

ผลการศึกษาจะแล้วเสร็จเดือน ส.ค.นี้ แบ่งเป็น 3 เฟส ระยะแรก เงินลงทุน 14,000 ล้านบาท มีสายสีส้มเข้มแยกประโดก–ถนนช้างเผือก–คูเมืองเก่า ระยะทาง 9.81 กม. จำนวน 17 สถานี และสายสีเขียวเข้มตลาดเซฟวัน–ถนนมุขมนตรี–สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.17 กม. จำนวน 18 สถานี

 

ระยะที่ 2 เงินลงทุน 4,900 ล้านาท มีสายสีม่วงเข้มตลาดเซฟวัน–ถนนมิตรภาพ–สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.92 กม.จำนวน 9 สถานี 

 

และระยะที่ 3 เงินลงทุน 13,600 ล้านบาท มีสายสีส้มอ่อนโรงเรียนเทศบาล 1-หัวทะเล–ดูโฮม ระยะทาง5.37 กม. จำนวน 4 สถานี สายสีเขียวอ่อนสถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 3 (ห้วยบ้านยาง)-ตลาดเซฟวัน และสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์–สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา สาขา 2 ระยะทาง12.12 กม. จำนวน 13 สถานี และสายสีม่วงอ่อนมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล–แยกจอหอ–ค่ายสุรนารายณ์ ระยะทาง 4.48 กม. จำนวน 3 สถานี 

 

ด้าน “อ.หาดใหญ่” จ.สงขลา ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นผู้ศึกษาเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรล เริ่มจากคลองหวะ–สถานีรถตู้ ระยะทาง 12.54 กม. มีสถานี 12 สถานี มูลค่าลงทุน 16,100 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับแก้รายงานอีไอเอ 

 

“บึงกาฬ” จังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย เป็นอีกจังหวัดที่ สนข.ให้ความสำคัญ ขณะนี้ยังไม่มีแผนแม่บทด้านขนส่งและจราจร เพิ่งจะเริ่มนับหนึ่งเปิดรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของคนในพื้นที่เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลจัดทำแผนแม่บทต่อไป 

 

ในการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการลงทุนและการท่องเที่ยว หลังประเมินศักยภาพจังหวัดที่มีทำเลที่ตั้งมีพรมแดนติดกับ สปป.ลาว เป็นระยะทาง 330 กม. รวมถึงมีจุดผ่านแดนถาวร 1 แห่งที่ด่านศุลกากรบึงกาฬ ตรงข้ามกับเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

https://www.prachachat.net/property/news-26516

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider