News

ปริญญา ยมะสมิต กปน. ลุย 4 หมื่นล้านโกดิจิทัล

LivingInsider Report 2017-08-04 14:09:28

 

 

ทำงานเป็นลูกหม้อการประปานครหลวง (กปน.) มาร่วม 32 ปี ตั้งแต่เจ้าหน้าที่วิศวกร จนมาถึงรองผู้ว่าการวิศวกรและก่อสร้าง ในที่สุด “ปริญญา ยมะสมิต” ได้ขึ้นแท่นเป็นผู้ว่าการการประปานครหลวงคนที่ 16 ในวัย 57 ปี

 

เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ หลังได้รับการแต่งตั้งให้รั้งเก้าอี้ใหญ่ครบ 3 เดือน นับจากวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา

 

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ผู้ว่าการป้ายแดง ถึงทิศทางการดำเนินงานภายในระยะเวลาที่เหลือ 3 ปี 3 เดือน

 

Q : วางแผนการดำเนินงาน

 

จะดำเนินการตามวิสัยทัศน์ “การประปานครหลวง ก้าวสู่ Digital MWA” มี 4 ยุทธศาสตร์หลัก อย่างแรกยกระดับการบริการให้ดีเยี่ยม ขยายการให้บริการครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบและเป็นมาตรฐานสากล เช่น เพิ่มแรงดันน้ำ เพิ่มช่องทางการชำระค่าบริการประปา เพิ่มความสามารถในการร้องเรียน การติดตั้งประปาใหม่ การซ่อมท่อแตกรั่ว การบริหารลูกค้าสัมพันธ์ การยกระดับภาพลักษณ์องค์กร และการดำเนินงานตามแผนน้ำประปาปลอดภัย

 

ลำดับต่อมาจะต้องพาองค์กร “ก้าวสู่องค์กรชาญฉลาด” สร้างความแข็งแกร่งในด้านดิจิทัล สารสนเทศ เช่น ศูนย์ควบคุมคุณภาพน้ำ จากนั้นเป็นการสร้างความยั่งยืนแก่องค์กร การเปลี่ยนท่อน้ำที่ใช้งานมากว่า 20-30 ปี สูบน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่ ตั้งศูนย์ควบคุมน้ำ ลดการสูญเสียน้ำ

 

เนื่องจากสภาพดินในเขตพื้นที่และปริมณฑลเป็นดินอ่อน จึงเกิดปัญหาท่อแตก จะเพิ่มการตรวจสอบรอยรั่วให้เร็วขึ้น บริหารพื้นที่และเฝ้าระวังท่อน้ำแตกตามสถานีจ่ายน้ำ พร้อมทั้งหาแหล่งน้ำดิบแห่งใหม่ คือ พื้นที่บางไทร วงเงิน 10,000-15,000 ล้านบาท อยู่ในการศึกษาความเหมาะสมใช้เวลา 1 ปี กระบวนการตั้งงบประมาณ 2 ปี ถึงจะเห็นเป็นรูปธรรม รองรับน้ำในอนาคตและทดแทนสถานีจ่ายน้ำสำแลที่น้ำเค็มรุกล้ำ

 

สุดท้าย “การเสริมสร้างองค์กรนวัตกรรมประปา” ที่ตอบสนองประชาชน เช่น มิเตอร์อัจฉริยะ ผ่านโมบายแอปพลิเคชั่น แจ้งเตือนเมื่อท่อน้ำแตก พัฒนาแผนที่ GPS ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.)

 

Q : งานด่วนที่ต้องทำทันที

 

จะผลักดันให้การบริการของการประปานครหลวงเป็นดิจิทัล เช่น การชำระค่าน้ำผ่านบัตรเครดิตที่เป็นนโยบายของกระทรวงมหาดไทย การซ่อมแซมท่อน้ำแตกหรือรั่วให้รวดเร็วขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังแต่ละจุด และลดขั้นตอนในการบริการประชาชนในการชำระค่าน้ำและขอติดตั้งมิเตอร์น้ำใหม่

 

นอกจากนี้การประปายังได้สนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการลดความเหลื่อมล้ำประชาชนใช้น้ำทั่วประเทศ ภายในปี 2561 ลดการสูญเสียน้ำให้ได้ 19% ภายในปี 2564 บูรณาการภาครัฐ เช่น การประปาส่วนภูมิภาค ไม่สามารถให้บริการน้ำได้ การประปานครหลวงจะเข้าไปช่วยเหลือจาก 160,000 ลูกบาศก์เมตร เป็น 2 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังมีแผนร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนท่อน้ำพร้อมการนำสายไฟฟ้าลงดิน และร่วมกับ กทม. กรมที่ดินในการขออนุญาตใช้น้ำประปา

 

Q : ความคืบหน้าโครงการลงทุนต่าง ๆ

 

มีโครงการปรับปรุงกิจการประปาในแผนหลัก 5 ปี นับจากปี 2560-2565 ใช้งบประมาณ 42,750 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ รองรับความต้องการใช้น้ำในอนาคต ก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำมหาสวัสดิ์ เชื่อมฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกเพิ่มอีก 1 เส้นทาง จะใช้งบประมาณของการประปาลงทุนเอง

 

ประกอบด้วย งานวางท่อประปาเพื่อขยายเขตการให้บริการน้ำประปาให้เต็มพื้นที่ชุมชนเมือง เริ่มตั้งแต่ปี 2551 ได้วางท่อประปา 1,200 เส้นทางระยะทางกว่า 1,300 กม. งบประมาณ 2,260 ล้านบาท สามารถให้บริการน้ำประปากับผู้ใช้น้ำ 35,300 ครัวเรือน

 

แยกเป็นพื้นที่สมุทรปราการเริ่มเมื่อปี 2555-2560 สร้างเสร็จ 202 เส้นทาง ระยะทาง 289.809 กม. วงเงิน 536.822 ล้านบาท นนทบุรีปี 2557-2560 สร้างเสร็จ 199 เส้นทาง ระยะทาง 230.104 กม. วงเงิน 308.236 ล้านบาท กทม.ปี 2551-2560 สร้างแล้ว 700 เส้นทาง ระยะทางกว่า 600 กม. วงเงิน 800 ล้านบาท จะลงทุนอีก 200 ล้านบาท ขยายเพิ่ม 145 กม.

 

Q : มาตรการด้านการบริการ

 

เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนทุกระดับ จะลดค่าติดตั้งประปาใหม่ 50% จนถึง 31 ธ.ค. นี้ สำหรับค่าติดตั้งประปาใหม่เฉพาะมาตรวัดน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1/2 นิ้ว ประเภทบ้านพักอาศัย ยังพัฒนาการบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชั่นใหม่ เพิ่มช่องชำระค่าประปาตามรูปแบบ Thailand 4.0 ประชาชนสามารถชำระค่าน้ำและแจ้งข้อร้องเรียนด้วยบัตรเครดิต ผ่านแอปพลิเคชั่น MWA on Moblie และระบบ e-Service รวมถึงผู้ที่ใช้บัตรสวัสดิการที่จะใช้ปีนี้ด้วย

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

https://www.prachachat.net/property/news-16142

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider