
หน้าแรก
เชื่อว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา ทำให้ทุกคนหันมาโฟกัสมาตรฐานการก่อสร้างบ้านและคอนโดมากขึ้น จากเดิมที่หลายคนอาจมองข้ามเรื่องนี้ไป เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ไม่ใช่แค่แผ่นดินไหวเท่านั้น เหตุการณ์ไฟไหม้หรือน้ำท่วมก็เป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายให้กับที่อยู่อาศัยเช่นกัน
วันนี้เรานำตัวอย่างนวัตกรรมและเทคโนโลยีการออกแบบบ้านและคอนโด ที่ช่วยลดความเสียหายจากแผ่นดินไหว ไฟไหม้ และน้ำท่วม มาแชร์กับทุกคนกันน
นวัตกรรมเทคโนโลยีออกแบบบ้าน-คอนโด
ช่วยลดความเสียหายจากแผ่นดินไหว
Seismic design การออกแบบโครงสร้างต้านทานแผ่นดินไหว
Seismic design คือการออกแบบโครงสร้างให้ต้านทานต่อแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว แต่จะไม่ใช่การทำให้ตัวอาคารไม่ได้รับความเสียหายเลย คือถ้าเกิดแผ่นดินไหว อาจมีรอยร้าว ผนังหรือฝ้าเพดานร่วงลงมาบ้าง แต่โครงสร้างหลักจะไม่ถล่ม
โดยวิศวกรจะเลือกใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติแข็งแรงและยืดหยุ่น เช่น เหล็กกล้า พร้อมทั้งออกแบบฐานรากให้สามารถ “แยกการสั่น” ไม่ให้ส่งขึ้นมายังโครงสร้างหลัก ไปจนถึงการติดตั้งอุปกรณ์พิเศษอย่าง “dampers” หรือ “seismic isolators” ที่ทำหน้าที่คล้ายโช้คอัพในรถยนต์ ช่วยดูดซับแรงสั่นสะเทือนไม่ให้กระจายไปทั่วโครงสร้าง
Seismic Sensors ระบบตรวจจับแรงสั่นสะเทือน
Seismic Sensors คือระบบตรวจจับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวแบบเรียลไทม์ สามารถตรวจจับแรงสั่นที่มีความเร็วไม่กี่ไมโครเมตรต่อวินาที ซึ่งเล็กเกินกว่าที่คนจะรู้สึกได้ โดยเมื่อเซ็นเซอร์ตรวจพบแรงสั่นผิดปกติ เช่น คลื่น P-Wave ซึ่งมาก่อนคลื่น S-Wave ที่สร้างความเสียหายจริง ระบบจะส่งสัญญาณไปยังศูนย์ควบคุมทันที
หลังจากนั้น จะมีการแจ้งเตือนตามที่ระบบถูกตั้งค่าไว้ เช่น ส่งข้อความแจ้งเตือนผ่านแอปมือถือ สั่งให้เปิดเสียงสัญญาณเตือนภายในอาคาร หรือเปิดไฟฉุกเฉิน
เพื่อให้คนในอาคารรู้ตัวก่อนแรงสั่นสะเทือนหลักจะมาถึง ช่วงเวลานี้แม้จะมีแค่ไม่กี่วินาที แต่ก็เพียงพอให้รีบหลบภัยหรือเตรียมตัวได้ทัน ช่วยลดโอกาสบาดเจ็บหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้
นวัตกรรมเทคโนโลยีออกแบบบ้าน-คอนโด
ช่วยลดความเสียหายจากไฟไหม้
Smoke Detectors & Heat Sensors
Smoke Detectors และ Heat Sensors คืออุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณไฟไหม้อัตโนมัติที่มักติดตั้งคู่กันในอาคาร โดย Smoke Detector ทำหน้าที่ตรวจจับควันในอากาศ เมื่อมีควันลอยเข้าสู่ตัวเครื่องถึงระดับที่ตั้งไว้ จะส่งสัญญาณเตือนทันทีผ่านเสียงไซเรน และในระบบที่เชื่อมต่อกับศูนย์ควบคุมก็อาจส่งสัญญาณไปยังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรือระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เช่น sprinkler
ส่วน Heat Sensor ตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในพื้นที่ ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นผิดปกติอย่างรวดเร็ว หรือเกินค่าที่กำหนด เช่น 57°C หรือ 70°C ขึ้นอยู่กับการตั้งค่า) ก็จะส่งสัญญาณเตือนเช่นเดียวกัน
ทั้งสองระบบนี้ จะทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตรวจจับไฟ เพราะเหตุการณ์ไฟไหม้บางกรณีอาจเกิดความร้อนก่อนมีควัน หรือมีควันมากโดยยังไม่มีไฟที่อุณหภูมิสูงพอ Heat Sensor จะช่วยกรอง false alarm จากควันที่เกิดจากไอน้ำหรือฝุ่น ส่วน Smoke Detector จะช่วยแจ้งเหตุได้ไวกว่าในกรณีที่ยังไม่มีไฟลุกแต่เริ่มมีควันสะสม
การติดตั้งทั้งสองแบบร่วมกันจึงช่วยให้ระบบตรวจจับไฟมีประสิทธิภาพสูง ลดความเสี่ยงจากไฟไหม้ได้มากขึ้น ทั้งในบ้าน คอนโด สำนักงาน โรงแรม และอาคารสูง เพื่อลดโอกาสสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
Sprinkler System ระบบฉีดน้ำอัตโนมัติในตัวอาคาร
ระบบ Sprinkler หรือระบบฉีดน้ำอัตโนมัติในอาคาร เป็นกลไกความปลอดภัยที่ออกแบบมาเพื่อควบคุมและระงับเหตุเพลิงไหม้ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น การทำงานของระบบนี้อาศัยท่อส่งน้ำที่เชื่อมต่อกับถังเก็บน้ำหรือระบบประปาของอาคาร พร้อมกับหัวฉีดน้ำ (Sprinkler Heads) ที่ติดตั้งไว้ตามเพดานในจุดต่าง ๆ
โดยหัวฉีดแต่ละจุดจะถูกปิดด้วยวัสดุที่ไวต่อความร้อน เช่น หลอดแก้วที่บรรจุของเหลวซึ่งจะขยายตัวเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น และจะแตกออกเมื่ออุณหภูมิถึงจุดที่กำหนด ทำให้น้ำภายใต้แรงดันพุ่งออกมาจากหัวฉีดนั้นโดยอัตโนมัติ
ทั้งนี้ Sprinkler จะฉีดน้ำเฉพาะในบริเวณที่มีความร้อนสูงพอ ไม่ใช่ทั้งอาคารพร้อมกัน เพื่อจำกัดวงของความเสียหายและใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
วัสดุก่อสร้างที่มีคุณสมบัติกันไฟ
การออกแบบบ้าน คอนโด หรืออาคารต่าง ๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญแค่เรื่องความแข็งแรงทนทานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่มีนวัตกรรมในการป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ โดยเฉพาะอัคคีภัย ซึ่งเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกเมื่อ
โดยวัสดุที่มีคุณสมบัติกันไฟจะช่วยชะลอการลุกลามของเปลวเพลิง และลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับตัวอาคารและชีวิตของผู้อยู่อาศัย เช่น ยิปซัมบอร์ดชนิดกันไฟ ช่วยให้ผนังสามารถทนความร้อนได้เป็นชั่วโมงโดยไม่ลุกไหม้ตามเปลวไฟ
คอนกรีตมวลเบา ที่แม้จะมีน้ำหนักเบา แต่กลับทนความร้อนได้ดีและไม่ติดไฟง่าย เส้นใยแร่ (Rockwool) หรือ ใยแก้ว (Fiberglass) ซึ่งใช้เป็นฉนวนกันความร้อนตามผนัง เพดาน หรือท่อสายไฟ ซึ่งวัสดุเหล่านี้ไม่เพียงแค่กันไฟ แต่ยังช่วยชะลอความร้อนจากไฟไม่ให้แพร่กระจายเร็ว
อีกหนึ่งนวัตกรรมที่สำคัญคือ สีทนความร้อนและกันไฟ หรือ สารเคลือบโครงสร้างเหล็ก ซึ่งเมื่อโดนความร้อนจะพองตัวกลายเป็นชั้นโฟมหนา ช่วยป้องกันไม่ให้โครงสร้างเหล็กอ่อนตัวหรือเสียรูปในขณะที่ไฟไหม้รุนแรง
นวัตกรรมเทคโนโลยีออกแบบบ้าน-คอนโด
ช่วยลดความเสียหายจากน้ำท่วม
Smart Flood Warning Systems ระบบแจ้งเตือนน้ำท่วม
น้ำท่วมถือเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะบริเวณใกล้แหล่งน้ำหรือตามพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินอยู่ไม่น้อย และในบางครั้งก็รุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต
ดังนั้นจึงมีการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยลดโอกาสเกิดความเสียหายจากอุทกภัย หนึ่งในนั้นคือ Smart Flood Warning Systems หรือระบบแจ้งเตือนน้ำท่วม ที่ถูกออกแบบมาให้สามารถคาดการณ์และแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมได้ทันเวลา และลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระบบนี้ทำงานโดยการติดตั้งเซนเซอร์วัดระดับน้ำในจุดเสี่ยงรอบบ้านหรืออาคาร เช่น บริเวณรั้ว รอบท่อระบายน้ำ หรือบริเวณใต้ดิน เมื่อระดับน้ำเริ่มสูงผิดปกติหรือมีแนวโน้มจะเอ่อล้น เซนเซอร์จะส่งข้อมูลไปยังระบบประมวลผลกลาง จากนั้นระบบจะส่งแจ้งเตือนไปยังแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน หรือระบบควบคุมอาคารอัจฉริยะที่เชื่อมต่ออยู่
การแจ้งเตือนไม่ได้บอกเพียงแค่ว่ามีน้ำท่วมเท่านั้น แต่ยังสามารถระบุพิกัด ความลึก และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำ ช่วยให้สามารถวางแผนอพยพหรือย้ายทรัพย์สินไปยังที่ปลอดภัยได้อย่างทันท่วงที
Flood-resistant Design การออกแบบบ้านป้องกันน้ำท่วม
Flood-resistant Design หรือการออกแบบที่รองรับและลดผลกระทบจากอุทกภัย จะเน้นตั้งแต่ระดับโครงสร้าง วัสดุ ไปจนถึงการวางผังอาคาร ตัวอย่างเช่น การยกพื้นบ้านให้สูงกว่าระดับน้ำท่วมเฉลี่ยในพื้นที่ การใช้วัสดุที่ไม่ดูดซึมน้ำ เช่น ผนังคอนกรีตหล่อสำเร็จ หรือกระเบื้องเซรามิกที่ทำความสะอาดง่ายเมื่อน้ำลด
รวมถึงการติดตั้งประตูและหน้าต่างที่มีซีลกันน้ำ หรือบานเปิดที่สามารถล็อกแน่นเพื่อป้องกันน้ำซึมเข้ามา นอกจากนี้ บางแบบบ้านยังออกแบบให้มีพื้นที่เปิดโล่งด้านล่าง เช่น ใต้ถุน เพื่อให้น้ำไหลผ่านได้โดยไม่กระทบต่อส่วนที่อยู่อาศัย
ในกรณีของคอนโดหรืออาคารสูง การออกแบบ Flood-resistant มักเน้นไปที่ระบบป้องกันชั้นล่าง เช่น การใช้แผงกันน้ำพับเก็บได้ (Flood barriers) การย้ายระบบไฟฟ้าและเครื่องกลให้อยู่ในจุดที่น้ำท่วมไม่ถึง หรือออกแบบระบบระบายน้ำสำรองไว้โดยเฉพาะ ทั้งหมดนี้ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายต่อโครงสร้าง และลดภาระค่าซ่อมแซมหลังน้ำลด
แม้จะไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยโดยตรง แต่นวัตกรรมเทคโนโลยีที่ช่วยลดความเสียหายจากภัยพิบัติต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องที่ควรคิดไว้ตั้งแต่เริ่มวางแผนสร้างบ้าน เพราะอะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยและอุ่นใจในระยะยาวนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
รวมเทคโนโลยีทันสมัย ทำให้การอยู่บ้านเป็นเรื่องสนุก
5 นวัตกรรมไฮเทค ให้คอนโดเจ๋งขึ้นเยอะ
8 อุปกรณ์อัจฉริยะ ช่วยให้ชีวิตสบายขึ้นเยอะ
ซื้อคอนโดที่กำลังสร้าง ต้องระวังปัญหาอะไรบ้าง
2020-02-21
5 เรื่องโฆษณา VS ความจริง ในการซื้อคอนโดที่ไม่ตรงกัน
2021-09-28
10 ต่างชาติ โอนคอนโดสูงสุด ในประเทศไทย ครึ่งปีแรก 2566
2023-09-02
แต่งห้องนอนเสริมโชค ด้วยสีห้องนอนตามวันเกิด
2024-03-28
เจาะเทรนด์ที่อยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่ ทำไมเลือกอยู่คอนโดมากกว่าอยู่บ้าน
2022-03-11
รูปภาพประกอบสวยมากเลยค่ะ
น่าอยู่มากจ้าาาาา
น่าติดตามค่ะ
ได้ประโยชน์มากๆ อ่านสนุกดี