News

วัดใจ คสช. ปิดดีลมหากาพย์เผือกร้อนปีไก่ จ้างเดินรถสายสีน้ำเงิน 2.8 หมื่นล้าน

LivingInsider Report 2017-01-10 11:06:48

 

 

ในที่สุด "รัฐบาล คสช." ออกคำสั่ง ม.44 มาปลดล็อกรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเป็นครั้งที่ 2 เร่งเปิดใช้บริการ 1 สถานีเชื่อมรถไฟฟ้า 2 สาย 2 สี "ม่วง-น้ำเงิน" ที่ยังฟันหลอช่วง "บางซื่อ-เตาปูน" ให้ฉลุยหลังติดหล่มอยู่แรมปี
 


แม้ว่าวันที่ 17 ก.ค. 2559 ได้มีคําสั่ง ม.44 แก้ไขปัญหาการเชื่อมต่อและร่วมใช้ระบบรถไฟฟ้าของสายสีน้ำเงินเดิมกับส่วนต่อขยายหัวลําโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ให้เจรจา "BEM-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ" ผู้รับสัมปทานรายเดิมให้เดินรถต่อเนื่องไปแล้ว ถึงขณะนี้ผ่านมา 5 เดือนยังไปไม่ถึงจุดหมาย จึงเป็นที่มา ทำไมถึงต้องมีคำสั่ง ม.44 เป็นรอบที่ 2
 


ครั้งนี้คำสั่งย้ำชัดให้ "รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย"จ้าง "BEM" ติดตั้งระบบ จัดการเดินรถและบริหารการเดินรถสายสีน้ำเงินช่วงเตาปูน-บางซื่อ ระยะทางประมาณ 1 กม.ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหาจราจรและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
 


พร้อมระบุเป็นการจ้างที่ไม่เป็นการร่วมลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐหลังมีเสียงค้านการแยกจ้าง1สถานีออกมาจากสัญญาใหญ่จะขัดต่อ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ
 


โดยใช้ผลการเจรจาต่อรองของคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมงานหรือดําเนินการงานสัญญาที่5สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางซื่อ กับ BEM ที่ รฟม.ได้ข้อยุติและเคยเสนอ "ครม.-คณะรัฐมนตรี" มาแล้วต้นปี 2559 เป็นแนวทางการดำเนินงาน
 


แหล่งข่าวจาก รฟม.กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า คำสั่ง ม.44 ล่าสุดเท่ากับเป็นการนำสิ่งที่คณะกรรมการมาตรา 13 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2535 เคยเจรจากับ BEM และเสนอ ครม.มาแล้วกลับมาเดินหน้าใหม่ โดยจ้าง BEM เดินรถ 1 สถานีปีละ 52 ล้านบาท จนกว่าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจะเปิดบริการในปี 2563 โดยคาดว่าจะเซ็นสัญญากับ BEM ประมาณเดือน ก.พ.และเปิดเดินรถสถานีบางซื่อ-เตาปูนได้ภายในเดือน ส.ค. 2560
 


สำหรับความคืบหน้าสัมปทานเดินรถสายสีน้ำเงินต่อขยายอยู่ระหว่างนำผลการเจรจาให้สำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ(สคร.)กระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรีพิจารณาจะใช้เวลา 2 เดือน
 


รายละเอียดการเจรจาได้ข้อยุติจากคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 รัฐจะอุดหนุนรายได้เอกชนปีละ 74 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 10 ปี รวม 740 ล้านบาท เพื่อแลกกับเอกชนไม่เก็บค่าแรกเข้าครั้งที่ 2 และเก็บค่าโดยสารทั้งโครงข่าย 47 กม.ไม่เกิน 42 บาท
 


ขณะเดียวกัน รัฐจะได้รับผลตอบแทนของสายสีน้ำเงินเดิม วงเงิน 27,760 ล้านบาท จนหมดอายุสัมปทานปี 2572 ขณะที่ส่วนต่อขยายรัฐจะไม่ได้รับผลตอบแทนเนื่องจากผลตอบแทนด้านการเงิน (IRR) ต่ำอยู่ที่ 9.75% ทำให้เอกชนขาดทุน หลังไม่เก็บค่าแรกเข้าต่อที่ 2 และเก็บค่าโดยสารเท่าเดิม 42 บาท อีกทั้งผู้โดยสารก็น้อยทั้งโครงข่ายคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 8 แสนเที่ยวคน/วัน เนื่องจากส่วนต่อขยายจะพาดผ่านไปยังพื้นที่ชานเมืองเป็นหลัก

 

 

"ต้องนำรายได้สายเดิมมาหักลบกับส่วนขยายใหม่แม้ระยะทางจะเพิ่มแต่ค่าโดยสารเท่าเดิมทำให้เอกชนมีรายได้ไม่เพิ่ม หลังปรับประมาณการผู้โดยสารใหม่อยู่ที่ 8 แสนเที่ยวคน/วันเท่ากับของสายเดิมที่เคยประเมินไว้ปีแรกที่เปิดบริการ จึงทำให้ผลเจรจาออกมามีข้อยุติรัฐจะได้ผลตอบแทน 27,760 ล้านบาท ขณะที่เอกชนมีค่าใช้จ่ายในการเดินรถเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากระยะทางเพิ่มขึ้น ทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนที่เอกชนต้องลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท" แหล่งข่าวกล่าวและว่า
 


ตามเงื่อนไขรัฐจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ต่อเมื่อผลตอบแทนด้านการเงินเกิน 9.75% จากการประมาณการจะเป็นปี 2592 หรือหมดอายุสัมปทานไปแล้ว แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขประมาณการผู้โดยสารเปิดบริการปีแรกต้องอยู่ที่ 8 แสนเที่ยวคน/วัน และหากผู้อยู่ที่ 1 ล้านเที่ยวคน/วัน จะทำให้รัฐได้รับส่วนแบ่งเร็วขึ้นเป็นปี 2585
 


ถึงจะได้ข้อยุติ แต่ดูหนทางคงไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะยังมีคลื่นใต้น้ำจาก "สภาพัฒน์และคลัง" ร้องเพลงประสานเสียงคีย์เดียวกัน "ทุกโครงการต้องประมูล" ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่โอเคกับผลการเจรจาที่ออกมา
 


ล่าสุดมีทัพเสริมจากนักวิชาการออกมาค้านเสียงดังขย่มวิธีการของรัฐใช้การเจรจาตรงกับรายเดิมอาจจะเข้าข่ายเอื้อผลประโยชน์ให้เอกชนรายเดียว
 


ทำให้ยิ่งเป็นที่จับตา"สัมปทานรถไฟฟ้าสายนี้"อาจจะกลายเป็นเผือกร้อนต้อนรับปีระกาที่ "รัฐบาล คสช." ต้องหารันเวย์ลงให้สวย ไร้ซึ่งข้อครหา เพื่อปิดเกมที่ชักเย่อกันมากว่า 2 ปีให้จบก่อนที่จะสายเกินไป
 


ไม่เกิดซ้ำรอยสายสีแดง "บางซื่อ-ตลิ่งชัน" งานโยธาเสร็จตั้งแต่ปี 2555 ขณะนี้ยังไม่มีรถไฟฟ้ามาวิ่ง มิหนำซ้ำต้องเสียค่าบำรุงรักษารางปีละหลาย 10 ล้านบาท
 


ย้อนดูความก้าวหน้างานก่อสร้างสายสีน้ำเงินต่อขยาย ทั้ง 5 สัญญาก็รุดหน้าไปมาก สัญญาที่ 1 งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างเส้นทางใต้ดิน ช่วงหัวลำโพง-สนามไชย คืบหน้า 92.14% สัญญาที่ 2 งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างใต้ดินช่วงสนามไชย-ท่าพระ คืบหน้า 100% สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างเส้นทางยกระดับช่วงเตาปูน-ท่าพระ คืบหน้า 67.15% สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างเส้นทางยกระดับช่วงท่าพระ-หลักสอง คืบหน้า 90.32% และสัญญาที่ 5 งานระบบราง คืบหน้า 80.21%
 


โดย รฟม.วาดแผนเปิดเดินรถ 3 ระยะ ในระยะที่ 1 ช่วงเตาปูน-บางซื่อ และระยะที่ 2 ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-หลักสอง จะเปิด ก.ย. 2560 ระยะที่ 3 ช่วงเตาปูน-ท่าพระ วันที่ 1 ก.พ. 2563
 


แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขต้องปิดดีลกับ "BEM" ธุรกิจในเครือ ช.การช่างให้จบภายในไตรมาสแรกนี้เท่านั้น

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1483937283


 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider