News

บทบาทใหม่ ชัชชาติ ดัน...คิวเฮ้าส์ STRONG

LivingInsider Report 2016-08-22 13:20:56

 

 

1 ปี 8 เดือนที่ "ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คุมเมกะโปรเจ็กต์ 2 ล้านล้านนั่งเก้าอี้ซีอีโอ "QH-บมจ.ควอลิตี้เฮาส์" อสังหาริมทรัพย์ค่ายมหาชนมีพอร์ตรายได้ปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท 

 


แม้บริบทงานคนละโหมด แต่สำหรับ "ชัชชาติ" มองว่างานคมนาคมกับอสังหาฯคล้ายคลึงกัน คือดูแลประชาชนกับดูแลลูกค้า ด้วยการลงไปตรวจพื้นที่ เป็น service industry เหมือน ๆ กัน 



"ตั้งแต่ทำงานที่ QH ลงตรวจไซต์ 60-70 ไซต์ทุกเสาร์-อาทิตย์โดยไม่บอกล่วงหน้า คุยกับลูกค้ามีปัญหาอะไร ให้รู้ว่าเราใส่ใจ ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพที่เป็นหัวใจสำคัญมากกว่าราคา แล้วสะท้อนสิ่งที่ได้ไปถึงลูกน้อง ทำให้ทีมของเราแข็งแรงขึ้น การที่ QH จะติดท็อป 5 ยอดขายไม่สำคัญ เราทำให้ทะลุเป้าได้ แต่ดูแลลูกบ้านไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ ยิ่งยุคโซเชียลมีเดีย ไม่มีทางจะไปหลอกลูกค้าได้"

 


ไม่ใช่แค่ลงดูพื้นที่ สิ่งที่ "ชัชชาติ" ทำทันทีหลังเป็นซีอีโอ คือการลงมือปรับทิศทางบริษัท นำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ รีแบรนดิ้ง QH เพื่อขยายฐานเซ็กเมนต์คนรุ่นใหม่อายุเริ่ม 30-40 ปี และเป็นกลยุทธ์สู้คู่แข่ง ที่ไม่ว่าเซ็กเมนต์ไหนจะต้องเป็นพรีเมี่ยมของเซ็กเมนต์นั้น โดยใช้จุดแข็งจากความเป็นรัฐมนตรีคมนาคมคุมทุกโหมดการลงทุนมาประกอบการตัดสินใจลงทุน 



ที่ผ่านมาจึงไม่แปลกที่QH มุ่งเจาะตลาดกรุงเทพฯและปริมณฑลเลาะแนวรถไฟฟ้าเป็นหลัก ขณะที่ต่างจังหวัดจะให้น้ำหนักกับพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ดที่เป็นแหล่งงานไม่ว่าฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี รวมถึงเมืองท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ยกเว้นภาคใต้และอีสาน ที่มีผู้เล่นมากหน้าหลายตาและเจ้าถิ่นที่แข็งอยู่แล้ว 

 


"ชัชชาติ" ขยายความว่า แม้การลงทุนอีสเทิร์นซีบอร์ดจะชะลอตัว แต่ยังเป็นหัวใจของประเทศ เพราะเป็นฐานการผลิตสำคัญ มีการส่งออก 75% ผ่านท่าเรือแหลมฉบัง อีก 25% ผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ ต้องบอกว่า รัฐบาลมาถูกทางแล้ว จะผลักดันการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก หรือ EEC จะช่วยบูตส่งออกไปด้วย เพราะโครงสร้างพื้นฐานเรามีพร้อม จากตอนแรกไปเน้นชายแดน มองว่าจะทำเขตเศรษฐกิจพิเศษลำบาก อาจจะเป็นแค่โลจิสติกส์ เป็นศูนย์กระจายสินค้า การให้โรงแรมไปตั้งชายแดนไม่มีประโยชน์ 

 

 

"จริง ๆ แล้ว อินฟราสตรักเจอร์เป็นตัวคีย์ของอสังหาฯ เป็นทรานสปอร์เตชั่นทำให้เกิดทำเลทอง เพราะการคมนาคมไม่ว่าทางด่วนหรือรถไฟฟ้าเป็นหัวใจการเดินทาง ทำเลที่น่าสนใจและจะแข่งขันกันมากในปีหน้า มองว่าโซนราชพฤกษ์เพราะมีรถไฟฟ้าสีม่วงและทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก สายแรกของฝั่งธนฯ เรามีโครงการบนถนนราชพฤกษ์และบางใหญ่ร่วม 20 โครงการ มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท จะได้อานิสงส์ เริ่มเห็นภาพหลังเปิดสายสีม่วงก็ทำให้คึกคักขึ้น"



แต่ปัญหาของสายสีม่วงยังขาดระบบฟีดเดอร์รับ-ส่งคนจากบ้านไปสถานีรถไฟฟ้าขณะนี้บริษัทกำลังจะลงทุนฟีดเดอร์รูปแบบรถบัสรับส่งลูกบ้านจากโครงการย่านราชพฤกษ์กับสายสีม่วง ที่ผ่านมาให้งบประมาณโครงการคอนโดฯที่งามวงศ์วานซื้อรถตู้1 คัน ไว้รับ-ส่งคนที่สถานีสายสีม่วงแล้ว



"ฟีดเดอร์ที่ดีสุดคือรถเมล์ เพราะมีคนใช้ถึง 3 ล้านคน ขณะที่รถไฟฟ้าใครใช้วันละ 1 ล้านคน รัฐต้องให้ความสำคัญให้มาก จะให้ปรับเส้นทางใหม่ให้เป็นก้างปลา ปรับปรุงสภาพรถให้ดี ไม่ใช่ว่ามีรถไฟฟ้าแล้ว แต่รถเมล์ยังเน่า"

 


จากแผนการลงทุนรถไฟฟ้าของรัฐที่ขยายไปยังชานเมืองมากขึ้น "ชัชชาติ" มองว่า ตลาดทาวน์เฮาส์รัศมีห่างจากสถานีรถไฟฟ้า 500-800 เมตร ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท จะเป็นเทรนด์มาแรง หลักการพัฒนาทาวน์เฮาส์ต้องตีตลาดระดับกลางได้ ซึ่งราคาขายต่อตารางเมตรจะถูกกว่าคอนโดฯ ปีที่ผ่านมาบริษัทมียอดขายทาวน์เฮาส์ครึ่งปีแรกโตขึ้น 10% ส่วนคอนโดฯลดลง 36% ขณะที่ 6 เดือนที่ผ่านมามีรายได้รวม 10,776 ล้านบาท โตขึ้น 26% กำไรเพิ่มขึ้น 2,217 ล้านบาท หรือ 33% ส่วนเป้าทั้งปียังคงอัตราเติบโตไว้ 8-10% 

 


"แนวโน้มครึ่งปีหลังคิดว่าดีนะ หลังประชามติผ่าน การเมืองชัดเจน การลงทุนภาครัฐเริ่มนิ่ง ทำให้มีความมั่นใจ เรียกความเชื่อมั่น เงินต่างประเทศไหลเข้ามามากขึ้น เราก็ลงทุนแบบระมัดระวัง ไม่หวือหวามาก มีเปิดตัว 4-5 โครงการ เป็นบ้านเดี่ยวกับทาวน์โฮม มูลค่า 6,000 ล้านบาท"

 


สำหรับทิศทางการลงทุนปีหน้าจะเน้นกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนต่างจังหวัดจะยังไม่มีการลงทุนเพิ่ม เพราะตลาดโดยรวมยังฝืด แม้ภาคเหนือเริ่มดีขึ้น แต่บางทำเลเริ่มโอเวอร์ซัพพลาย เช่น ศรีราชา พัทยา หัวหิน เน้นระบายซัพพลายเก่า 5,000 ล้านบาท ทั้งที่ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ เชียงรายและหัวหิน คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี 

 


กับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กลายเป็นปมใหญ่ของตลาดอสังหาฯ "ชัชชาติ" กล่าวว่า รีเจ็กเรตของ QH อยู่ที่ 20% จะเป็นบางโซน บางเซ็กเมนต์ ตลาดระดับบนไม่มี ส่วนใหญ่เป็นโซนที่มีธุรกิจเอสเอ็มอี โรงงาน เช่น แพรกษา บางปู จะมีความกดดันบ้าง เพราะถูกลดโอที ถึงเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ชื่อ "เรียลเอสเตท" บ่งบอกอยู่แล้วของจริง ยังไงก็มีดีมานด์ ตลาดกลาง-ล่างขึ้นอยู่กับปัจจุบัน อยากซื้อแต่กู้ไม่ผ่าน เชื่อว่าอสังหาฯเป็นสิ่งที่จำเป็น สิ่งที่คุ้มค่า ลงทุนตอนนี้ดอกเบี้ยถูก มีสินค้าให้เลือกมากตลาดเป็นของผู้ซื้อตอนนี้ ส่วนผู้ประกอบการระยะยาวไม่มีอะไรที่เหนือคุณภาพได้ 

 


ขณะที่การเปิดตัวโครงการใหม่จะเน้นแนวราบแต่จะปรับขนาดโครงการเป็นไซซ์ใหญ่ขึ้น ตั้งแต่ 100 ไร่ขึ้นไป พัฒนารูปแบบมิกซ์โปรดักต์ มีบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ ให้ลูกค้ามาที่เดียวมีสินค้าให้เลือกครบ นำร่องที่ดอนเมือง รังสิต และเพิ่มสิน รวมถึงเร่งปิดการขายโครงการที่อยู่ระหว่างขายกว่า 50,000 ล้านบาท คาดว่าปีหน้ารายได้รวมจะเติบโตใกล้เคียงกับปีนี้อยู่ที่ 8-10%

 

 

ขอบคุณข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

www.prachachat.net

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider