News

“Intergeneration Family” อยู่ร่วมกันหลายช่วงวัย เปิดเทรนด์สร้างสุขแบบอินฟินนิตี้ สานความสุขทุกเจเนอเรชั่น

LivingInsider Report 2019-06-05 12:04:17

 

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยได้จุดประกายให้ทุกภาคส่วนในสังคมหันมาให้ความสำคัญกับการยกระดับมาตรฐานการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้นในทุกมิติ โดยนอกจากการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างที่อยู่อาศัยให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุอย่างแท้จริงแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้สูงอายุ คือ การได้ใช้ชีวิตอย่างอบอุ่นกับลูกหลานไม่ใช่การใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเพียงลำพัง

 

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดเทรนด์ใหม่ของการอยู่อาศัยที่เรียกว่า “Intergeneration Family” หรือการอยู่ร่วมกันหลายช่วงวัยในครอบครัวใหญ่ ซึ่งไม่เพียงส่งผลดีต่อผู้สูงอายุในแง่ความอุ่นใจ แต่ยังรวมถึงรุ่นลูกและหลาน ที่ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขพร้อมหน้ากับครอบครัว สามารถดูแลกันและกันได้ทุกเมื่อ

 

เพื่อสะท้อนให้เห็นภาพของเทรนด์ “Intergeneration Family” ที่กำลังเป็นที่พูดถึงในหลายประเทศ เมื่อเร็วๆนี้ มัลเบอร์รี่ โกรฟ (Mulberry Grove) โดยบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) จัดงาน Intergeneration Family Living Forum ระดมเหล่านักวิชาการนานาชาติและกูรูชื่อดังของไทยมาให้ความรู้เกี่ยวกับเทรนด์ใหม่นี้ในทุกมิติ

 

พร้อมเผยผลวิจัย Intergeneration Family เป็นครั้งแรกของประเทศไทย งานฟอรั่มเปิดฉากด้วยการฉายภาพรวมให้เห็นถึงความคิดเห็นของคนไทยต่อเทรนด์การอยู่อาศัยในครอบครัวหลายช่วงวัย โดย ผศ.ดร.พิมลพรรณ อิศรภักดี ที่ปรึกษาและอาจารย์พิเศษ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เผยถึงโครงสร้างครอบครัวไทยในอดีตประกอบด้วยครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยายเท่านั้น

 

โดยครอบครัวเดี่ยวยังครองสัดส่วนมากที่สุด ขณะที่ตัวเลขของครอบครัวขยายก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยที่น่าจับตา ขณะเดียวกันยังมีรูปแบบครอบครัวพิเศษแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่มีเฉพาะสามี-ภรรยา ไม่มีลูก ครอบครัวข้ามรุ่น ครอบครัวพี่น้อง หรือแม้แต่ครอบครัวที่ไม่ใช่สายเลือดเดียวกัน อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศอายุ 15-65 ปี จำนวน 400 คนทั่วประเทศ
 

 

เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาพบข้อมูลที่สนใจว่า กลุ่มตัวอย่างถึง 70.8% ลงความเห็นว่าต้องการอยู่อาศัยในบ้านที่ประกอบด้วยสมาชิกหลายรุ่นมากกว่าจะอยู่แบบครอบครัวที่มีเพียง พ่อแม่ลูก เนื่องจากหลากหลายเหตุผล แต่เหตุผลที่มาเป็นอันดับ 1 มาจากความรักและความอบอุ่นจากการที่สมาชิกในครอบครัวดูแลกันและกัน

 

ตามมาด้วยการก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว มีการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ จากคนรุ่นก่อนสู่คนรุ่นหลัง “แต่การจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในหลากหลายรุ่น ต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับบริหารจัดการเวลา หน้าที่ ของแต่ละคนให้ดี รับฟังความคิดของกันละกัน และเคารพในพื้นที่ส่วนตัวของแต่ละคน”

 

ผศ.ดร.พิมลพรรณ ฝากถึงหลักการในการอยู่แบบ “Intergeneration Family” ให้ลงตัว สอดคล้องกับมุมมองของ รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เห็นว่า การเข้าสู่สังคมสูงอายุไม่ใช่แค่เรื่องของคนสูงวัยแต่เป็นเรื่องของคนทุกวัย เพราะในยุคที่กระแสโลกาภิวัฒน์ก่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มาเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนในสังคม แต่ขณะเดียวกันก็เพิ่มช่องว่างระหว่างวัยให้เกิดขึ้นตามมา 

 

เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะช่วยรักษาความสัมพันธ์ของคนระหว่างรุ่นให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขนั้น นอกจากจะมองหาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุอย่าแท้จริงยังต้องช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย เพื่อช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ช่วยในการงานเชิงเศรษฐกิจ

 

ตลอดจนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ฉายภาพรวมของสถานการณ์ครอบครัวไทย และสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมเพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างวัยมีแต่ความสุขผ่านมุมมองสองงนักวิชาการแถวหน้าของประเทศไทยไปแล้ว มาพิจารณาถึงข้อดีของการอยู่ร่วมกันแบบ Intergeneration Family ผ่านสายตาของนักวิชาการต่างประเทศกันบ้าง

 

เริ่มจาก ไคโกะ ซูกิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์การดูแลผู้สูงวัยและเด็กเล็ก KOTOEN และ นักวิชาการด้านสังคมระดับภูมิภาคจากประเทศญี่ปุ่น เผยว่า จากการศึกษาโมเดลการพัฒนาศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและเด็กเล็กที่ญี่ปุ่น นำมาซึ่งการตกผลึกถึงข้อดีของการอยู่อาศัยแบบหลายหลายช่วงวัยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้คนสองวัยได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ช่วยเติมความสดใส อาหารสมองให้กับเด็กผ่านประสบการณ์ความรู้ของผู้สูงวัยที่ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ไม่รู้สึกเหงา หรือ โดดเดี่ยว ทำให้สุขภาพกายและใจดี มีอายุยืนยาวขึ้น

 

ทั้งนี้ไคโกะมองว่า โมเดลนี้ก็น่าจะเหมาะกับสังคมไทย ซึ่งมีวัฒนธรรมคล้ายกับคนญี่ปุ่น ที่สำคัญมีเรื่องราว ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติมากมายที่สามารถถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น” ปิดท้ายด้วย ซาแมนธา อัลเลน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดสถาบัน International Well Building Institute (IWBI) ในฐานะที่มีบทบาทสำคัญในการศึกษาวิจัยทั้งด้านวิทยาศาสตร์สภาพแวดล้อมและวิทยาศาสตร์ จิตวิทยา

 

เพื่อช่วยพัฒนาภาพรวมด้านการตลาด และ การศึกษา ตลอดจนการนำหลักเกณฑ์การประเมินมาตรฐานสำหรับการสร้างอาคารที่เรียกว่า Well Building Standard และ Well Community Standard มาใช้ได้ร่วมสะท้อนถึงหลักการสร้างอาคารหรือสิ่งแวดล้อมให้เหมาะกับ Intergeneration Family ให้เข้าใจง่าย

 

โดยสรุปเป็น 10 ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง เริ่มตั้งแต่ อากาศที่ดี ปราศจากมลภาวะ น้ำที่มีคุณภาพสำหรับใช้อุปโภคและบริโภค โภชนาการที่ดี นอกจากจะเริ่มจากมีความรู้ สภาพแวดล้อมยังต้องเอื้อต่อการสร้างการกินดี ขณะที่เรื่องของแสงสว่าง ต้องมีระบบการจัดการควบคุมที่ดีเพื่อลงตัวกับการใช้ชีวิตและการพักผ่อน มีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนไหว ทำกิจกรรมต่างๆ มีระบบมอนิเตอร์และควบคุมอุณหภูมิให้พอเหมาะ

 

ตลอดจนการดูแลเรื่องเสียง การคัดสรรวัสดุที่ปลอดภัยมาใช้ จากนั้นจึงต่อยอดไปสู่การส่งเสริมสภาพจิตใจ และชุมชนให้แข็งแกร่ง ทั้งหมดต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับคนทุกช่วงวัย” อัลเลนทิ้งท้าย

 

กล่าวได้ว่า การอยู่ร่วมกันแบบหลากหลายช่วงวัย ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวหรือเรื่องใหม่ของสังคมไทย แต่เป็นการกลับคืนสู่รากฐานแห่งความสุขที่แท้จริงของคำว่า “ครอบครัว” ที่ชาวไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดีอีกครั้ง

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider