News

พิษ LTV ลาม บ้านล้านหลัง ทิ้งสิทธิ 30%

LivingInsider Report 2019-05-24 10:48:39

มาตรการ LTV ลาม “บ้านล้านหลัง” ดีเวลอปเปอร์ร่วมโครงการอ่วม ลูกค้าทิ้งสิทธิแล้วกว่า 30% ไม่มีเงินดาวน์ ยันแบงก์ชาติไม่ยกเว้น เผย ธอส.ไฟเขียวสินเชื่อตํ่าเป้า แค่ 800 ราย 700 ล้าน จากยอดจองสิทธิ มืดฟ้ามัวดิน 1.1 แสนล้าน

 

กว่า 1 เดือนสำหรับการใช้เกณฑ์การวางเงินดาวน์ใหม่ (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่ายอดการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและการขายโครงการที่อยู่อาศัยต่างหดตัว ยอดการปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 20% สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่อยู่อาศัยจริงยังมี แต่ขีดความสามารถในการหาเงินก้อนสำหรับวางดาวน์ยังมีข้อจำกัด

 

โดยเฉพาะลูกค้าระดับกลาง-ล่างซึ่งเป็นฐานใหญ่ของตลาด แม้ 3 สมาคมด้านอสังหาริมทรัพย์ จะเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยชะลอการบังคับใช้ LTV ออกไปปี 2563 เพื่อป้องปรามไม่ให้ตลาดอสังหาฯทรุดตัวไปมากกว่านี้ แต่ดูเหมือนทุกอย่างจะไร้ผล

 

ล่าสุดผลกระทบได้ขยายวงถึงโครงการ “บ้านล้านหลัง” ของธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) โดยบ้านหลังแรกอยู่ในข่ายใช้เกณฑ์ LTV นั่นคือ คอนโดมิเนียม วางดาวน์ 10% และ 5% กรณีบ้านแนวราบ แม้ที่ผ่านมาธอส.และเอกชนผู้เข้าร่วมโครงการจะกำหนดเงื่อนไขปล่อยกู้ไว้ที่ 100%

 

เนื่องจากต้องการลดภาระประชาชนไม่ต้องผ่อน 2 ทางระหว่าง ค่าเช่าบ้านและเงินผ่อนกับธนาคาร ส่งผลให้ปัจจุบันธอส. สามารถอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ซื้อบ้านในโครงการบ้านล้านหลังได้เพียง 800 รายวงเงิน 700 ล้านบาท เท่านั้น จากยอดจองสิทธิทะลักกว่า 1.1 แสนล้านบาทเมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้น นายพิริยะ ธานีรณานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านสวยกรุ๊ป (สุราษฎร์ธานี) จำกัด (มหาชน) และในฐานะประธานอสังหาริมทรัพย์ภาคใต้ตอนบน หนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ผู้เข้าร่วมโครงการบ้านล้านหลังสะท้อนว่า มาตรการแอลทีวี

 

ส่งผลกระทบในวงกว้างแม้แต่ โครงการบ้านล้านหลัง ก็ไม่ยกเว้น ส่งผลให้คนจองบ้านล้านหลัง ต้องยกเลิกสิทธิจองบ้าน ทั่วประเทศกว่า 30% เนื่องจากผู้มีรายได้น้อย ไม่มีเงินก้อนเพื่อวางดาวน์ ตามเกณฑ์แบงก์ชาติ กรณีบ้านแนวราบ 5% มูลค่า 1 ล้านบาท คือ 50,000 บาท เป็นต้น

 

“ทราบมาว่า ธอส. เคยมีหนังสือขอผ่อนปรนไปยังแบงก์ชาติ แต่คำตอบกลับมาคือ ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์สินเชื่อใหม่” ทำให้ภาครัฐโดยกระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย ต้องออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ จาก 2% ค่าจดจำนอง 1% เหลือ 0.01% เพื่อช่วยคนมีรายได้น้อยสามารถซื้อที่บ้านได้ แต่ไม่ส่งผลต่อการกระตุ้นกำลังซื้อแต่อย่างใด เพราะค่าจดจำนอง-ค่าโอนผู้ประกอบการผู้เข้าร่วม ต่างออกค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าเองทั้งหมด

 

เช่นเดียวกับบริษัทพัฒนาที่ดินรายใหญ่ในจังหวัดขอนแก่น นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสานพิมานกรุ๊ป จำกัดและในฐานะนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ขอนแก่น ระบุว่า บริษัทร่วมโครงการบ้านล้านหลัง ขณะนี้มีเพียงลูกค้าลงชื่อไว้ เนื่องจากยังไม่เปิดให้จอง รอก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อมีผลกระทบเกี่ยวกับ LTV จะทำให้ผู้มีรายได้น้อยเตรียมเงินดาวน์ไม่เพียงพอ และกู้ไม่ได้ในที่สุด

 

สอดรับกับนายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการบมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค กล่าวถึงโครงการอยู่รวยคอนโดของบริษัทจำนวน 2,000 หน่วย ธอส. อนุมัติสินเชื่อได้เพียง 400-500 หน่วย ซึ่งยังมีหน่วยเหลือขายอีกจำนวนมาก คาดว่าไตรมาส 3 หรือเดือนสิงหาคม 2562 เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำการตลาดอีกรอบ โดยจะดึงกลุ่มคนเช่าบ้านเข้ามาซื้อโครงการ

 

“ยอมรับว่า เกณฑ์ LTV กระทบตลาดทุกเซ็กเมนต์ เช่นเดียวกับโครงการบ้านล้านหลังต้องปฏิบัติตามกฎแบงก์ชาติ แต่บ้านสัญญาแรกมองว่ากระทบน้อย สามารถกู้ได้เกือบ 100% ต่างจากสัญญาที่
2 และสัญญาที่ 3 แต่สิ่งที่กระทบมากที่สุดสำหรับบ้านล้านหลังนั่นคือ 1. คนเช่าบ้านจะต้องซื้อบ้านสร้างเสร็จเท่านั้น เพราะมีข้อจำกัดผ่อน 2 ทาง 2. ธอส.จะไม่ปล่อยกู้ หากไม่มีหลักฐานแหล่งที่มาของ
รายได้”

 

เรื่องนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สอบถามไปยังธนาคารอาคารสงเคราะห์ กรณีส่งหนังสือขอผ่อนปรนมาตรการ LTV สำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านล้านหลัง แต่ไม่ได้รับคำตอบจาก ธอส. 

 

ขอบคุณข่าวจาก ฐานเศรษฐกิจ

http://www.thansettakij.com/content/401318

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider