
หน้าแรก
เหตุไฟไหม้เป็นเรื่องไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และบางครั้งไฟไม่ได้หยุดแค่บ้านต้นเพลิง แต่ลุกลามไปยังบ้านข้างเคียง สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง แล้วในกรณีแบบนี้ ใครต้องรับผิดชอบ? เจ้าของบ้านที่ไฟไหม้เป็นคนแรกต้องจ่ายไหม? หรือประกันภัยจะเข้ามาช่วยเหลือยังไง? มาหาคำตอบกันว่า เมื่อไฟไหม้บ้านลุกลามหลายหลัง ความเสียหายที่เกิดขึ้นใครต้องเป็นคนรับผิดชอบ!
ไฟไหม้ที่เกิดจากการกระทำโดยเจตนา
เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ลุกลามหลายหลัง เจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบว่าต้นเพลิงมาจากบ้านหลังไหน แล้วหาหลักฐานเพื่อยืนยันสาเหตุจากบ้านต้นเพลิง พร้อมสอบปากคำเจ้าของบ้านหรือผู้ที่อาศัยอยู่ในขณะเกิดเหตุ
หากพบว่าสาเหตุของไฟไหม้เกิดจากการกระทำโดยเจตนา (ไม่ได้หมายถึงการวางเพลิงโดยตรงนะ) เช่น จุดไฟเผาขยะ เผาใบไม้ หรือเผาทำลายสิ่งของ เจ้าของบ้านต้นเพลิงต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านข้างเคียง
นอกจากนี้ ยังเข้าข่ายความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท ยิ่งไปกว่านั้น หากพบว่าเจ้าของบ้านไม่มีการป้องกันหรือระมัดระวัง จนทำให้ไฟลุกลามไปยังบ้านอื่น ก็อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 225 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ไฟไหม้ที่เกิดจากความประมาท
หากตรวจสอบแล้วพบว่าไฟไหม้เกิดจากความประมาทของเจ้าของบ้านหรือผู้อยู่อาศัย เจ้าของบ้านต้องรับผิดชอบค่าเสียหายให้กับบ้านที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225 ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ซึ่งความประมาทที่นำไปสู่เหตุไฟไหม้อาจรวมถึงการจุดไฟทิ้งไว้โดยไม่ระวัง การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือแก๊สหุงต้มอย่างไม่ปลอดภัย หรือการสะสมวัสดุไวไฟในบ้านโดยไม่จัดการให้เหมาะสม หากมีพยานหลักฐานชัดเจน
กรณีไฟไหม้ที่หาสาเหตุชี้ชัดไม่ได้
ในกรณีที่ไม่มีหลักฐานมาชี้ชัดได้ว่า สาเหตุไฟไหม้เกิดจากการกระทำของเจ้าของบ้านต้นเพลิง ที่ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือประมาทก็ตาม เจ้าของบ้านไม่ต้องรับผิดชอบ และไม่ถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
แต่แน่นอนว่าเมื่อเป็นแบบนี้ เจ้าของบ้านที่ได้รับผลกระทบย่อมไม่พอใจ เพราะสุดท้ายแล้วคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้ลุกลามมาจากบ้านต้นเพลิง ดังนั้น คู่กรณีอาจต้องตกลงกันเองเรื่องการชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งอาจไม่ได้ครอบคลุมมูลค่าความเสียหายทั้งหมด แต่เป็นจำนวนที่ทั้งสองฝ่ายพอรับได้
มีประกันอัคคีภัย
หลายคนคงพอรู้แล้วว่า ถ้าพิสูจน์ได้ว่าไฟไหม้เกิดจากการกระทำของเจ้าของบ้านต้นเพลิง ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือความประมาท เจ้าของบ้านต้องรับผิดชอบค่าเสียหายให้กับบ้านที่ได้รับผลกระทบ แต่ถ้าบ้านต้นเพลิงมีประกันอัคคีภัยที่ครอบคลุมความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ประกันก็จะช่วยจ่ายค่าชดเชยแทนตามวงเงินที่กำหนดในกรมธรรม์
ขณะเดียวกัน หากบ้านที่ได้รับความเสียหายก็มีประกันอัคคีภัยด้วย ประกันของเขาจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ก่อน จากนั้นอาจใช้สิทธิ์ไล่เบี้ยฟ้องเรียกค่าเสียหายคืนจากเจ้าของบ้านต้นเพลิง หรือจากประกันของบ้านต้นเพลิง (ถ้ามี) ดังนั้น การทำประกันที่ครอบคลุมทั้งตัวบ้านและบุคคลภายนอก ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงจากเหตุไฟไหม้ได้มากขึ้น
ไฟไหม้บ้านตัวเองก็เสียหายหนักอยู่แล้ว แต่ถ้าไฟลุกลามไปบ้านหลังอื่น เราอาจต้องรับผิดชอบค่าเสียหายเพิ่ม และเสี่ยงมีความผิดทางอาญาอีกด้วย ดังนั้น การทำประกันอัคคีภัยที่คุ้มครองบุคคลภายนอก เป็นอีกวิธีที่ช่วยแบ่งเบาภาระ หากเกิดเหตุไม่คาดคิด
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประกันอัคคีภัย แท้จริงแล้วคุ้มครองอะไรบ้าง?
อยู่คอนโดเกิดไฟไหม้ รับมือยังไงชีวิตปลอดภัย
รวมวิธีป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ปลอดภัยทั้งคนและบ้าน
บทเรียนจากแผ่นดินไหว กับความปลอดภัยที่สะเทือนคอนโดไทย
ได้ไอเดียๆ ดีๆ จากนี้นี่เลย ขอบคุณค่ะ เขียนบทความบ่อยๆ น๊าา
ขอบคุณมากครับ เอาใจไปเลยลูกพี่!!!
ขอบคุณความรู้ดีๆ จากที่นี่ครับ
กำลัังตัดสิ้นอยู่ ขอบคุณฮะ
รีวิวได้ดี วิเคราะห์ละเอียดมากจ๊ะ