รายการโปรด
ช่วงนี้หลายจังหวัดกำลังประสบภัยน้ำท่วม ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งการรับมือสถานการณ์น้ำท่วมนั้น นอกจากจะเป็นในเรื่องของการขนของขึ้นที่สูง หรือนำกระสอบทรายมากั้นไม่ให้น้ำเข้าบ้านแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญมากไม่แพ้กันก็คือการเตรียมพร้อมระบบไฟฟ้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน
เตรียมพร้อมระบบไฟฟ้าในบ้านก่อนน้ำท่วม
หากบ้านของเรามีความเสี่ยง หรือเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี จำเป็นจะต้องเตรียมระบบไฟฟ้าในบ้านให้เรียบร้อยก่อนที่น้ำจะมา ซึ่งวันนี้เราจะพาไปดูว่าหลัก ๆ แล้วควรเตรียมตัวยังไงบ้างค่ะ
ติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่ว
ไม่ว่าบ้านของเราจะอยู่ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมเป็นประจำหรือไม่ก็ตาม แต่ระบบไฟฟ้าที่ควรเตรียมเพื่อความปลอดภัยก็คือ การติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่ว เพราะนอกจากไฟฟ้ารั่วจะเป็นอันตรายต่อชีวิตแล้ว ยังทำให้เปลืองเงินค่าไฟโดยใช่เหตุ
โดยเครื่องตัดไฟรั่วจะตัดไฟทันที เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผิดปกติ หรือเกิดไฟรั่ว นอกจากนี้ จำเป็นต้องตรวจสอบสภาพสายไฟและจุดต่อสายไฟอย่างสม่ำเสมอ หากอุปกรณ์เสื่อมสภาพเนื่องจากใช้งานมาเป็นเวลานาน หรือสาเหตุอื่น ๆ จะทำให้ไฟฟ้ารั่วได้
ยกระดับปลั๊กไฟให้สูง
หากบ้านของเราถูกน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ควรยกระดับปลั๊กให้สูงขึ้นจากจุดที่เคยถูกน้ำท่วม หรือคาดว่าน้ำจะท่วมถึงแน่ ๆ ประมาณ 1-1.2 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟฟ้ารั่ว และไฟดูด ซึ่งจะเป็นอันตรายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน
แยกเบรกเกอร์ชั้นล่าง-บน
สำหรับบ้านที่มีสองชั้น ควรติดตั้งเบรกเกอร์แยกระหว่างชั้นบนกับชั้นล่าง เมื่อถึงคราวที่น้ำท่วมบ้านให้ปลดเบรกเกอร์ชั้นล่างเพื่อตัดกระแสไฟฟ้า แล้วเปิดใช้งานเฉพาะเบรกเกอร์ชั้นบน แต่ถ้าเป็นบ้านชั้นเดียวก็จะต้องปลดเบรกเกอร์ให้เรียบร้อย ก่อนที่จะอพยพออกไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว
การใช้ไฟฟ้าในขณะน้ำท่วม
ใครที่มีบ้านสองชั้น อาจจะใช้ชีวิตในช่วงน้ำท่วมที่ชั้นสองของตัวบ้าน แต่หากมีเหตุจำเป็นจะต้องลงมาที่ชั้นล่างซึ่งถูกน้ำท่วม จะต้องระวังอันตรายเกี่ยวกับไฟฟ้า ดังนี้
ห้ามใช้ปลั๊กหรือสวิตช์บริเวณที่น้ำท่วมถึง
หากต้องอาศัยอยู่ในบ้านช่วงน้ำท่วม ให้งดใช้ไฟฟ้าในบริเวณชั้นล่าง ห้ามเปิดปิดสวิตช์ หรือเสียบปลั๊กไฟตอนที่ยืนอยู่ในน้ำ หรือตัวเปียกอยู่ ถึงแม้ว่าอุปกรณ์เหล่านั้นจะไม่ถูกน้ำท่วมก็ตาม เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ และถ้าเห็นสายไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าแช่ในน้ำ ห้ามเข้าไปใกล้เด็ดขาด เพราะอาจมีไฟฟ้ารั่วโดยที่เราไม่รู้
การช่วยเหลือคนถูกไฟดูด
ถ้ามีคนในบ้านถูกไฟดูด ให้ใช้วัตถุที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้า เช่น ไม้ หรือพลาสติกที่แห้งสนิท พร้อมทั้งสวมถุงมือยางหรือหาผ้าแห้งมาพันมือให้หนา ๆ แล้วผลักคนที่โดนไฟดูดให้หลุดออก จากนั้นรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนส่งโรงพยาบาล และรีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าให้เข้ามาดู
ตรวจสอบระบบไฟฟ้าหลังน้ำลด
แน่นอนว่าหลังสถานการณ์คลี่คลาย ทุกบ้านจะต้องทำความสะอาดพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม และเคลียร์สิ่งของที่ใช้งานไม่ได้ทิ้งไป แต่ถึงแม้ว่าน้ำจะลดลงแล้ว เรื่องของระบบไฟฟ้าก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ ซึ่งเราจะพาไปดูข้อควรระวังกันค่ะ
ตรวจสอบระบบไฟฟ้า
ช่วงน้ำท่วมทุกบ้านคงจะปิดคัตเอาต์ของชั้นล่าง เพื่อไม่ให้มีกระแสไฟฟ้าเดินในระบบ แล้วเมื่อน้ำลดก็จะตรวจสอบกระแสไฟฟ้าในบริเวณที่น้ำท่วมถึง โดยวิธีการคือเปิดคัตเอาต์ให้มีกระแสไฟฟ้าเข้ามา ถ้าปลั๊กจุดใดจุดหนึ่งยังเปียกชื้นอยู่ คัตเอาต์จะตัดไฟและฟิวส์ขาด ซึ่งก็จะต้องเปลี่ยนฟิวส์ใหม่ หลังจากนั้นรอ 1 วัน เพื่อให้ความชื้นระเหยออกไป แล้วจึงกลับมาเปิดคัตเอาต์อีกครั้ง และถ้ายังเป็นเหมือนเดิม ต้องเรียกช่างไฟมาแก้ไข
หลังจากตรวจสอบระบบไฟฟ้าหลังน้ำท่วมในขั้นแรกเรียบร้อยแล้ว ให้ลองเปิดไฟทีละจุด และใช้ไขควงทดสอบความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในปลั๊ก หากสามารถทำงานได้ทุกจุดก็แสดงว่าไม่เป็นอะไร แต่ถ้ามีปัญหาต้องรอให้ความชื้นระเหยก่อน หรือหากไม่มั่นใจอาจเรียกช่างมาซ่อมแซม
ส่วนการตรวจสอบไฟฟ้ารั่ว ทำได้ด้วยการลองดับไฟทุกจุด แล้วถอดปลั๊กออกให้หมด แต่ยังเปิดคัตเอาต์ไว้อยู่ และลองดูว่ามิเตอร์ไฟฟ้ายังคงหมุนอยู่หรือไม่ ถ้ามิเตอร์ไม่ขยับ แสดงว่าไฟฟ้าไม่รั่ว แต่ถ้ามิเตอร์มีการหมุนแปลว่าไฟฟ้าอาจจะรั่ว และต้องรีบให้ช่างแก้ไข
ห้ามซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเอง
หลังน้ำลดหลายคนมักจะนำสิ่งของและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกน้ำท่วมไปตากแดดให้แห้งเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ขอบอกก่อนว่านั่นเป็นวิธีที่ผิด เพราะแม้ว่าภายนอกเครื่องใช้ไฟฟ้าจะดูแห้งสนิท แต่ก็ใช่ว่าภายในมอเตอร์ แผงวงจร รวมถึงเครื่องกลจะไม่มีความชื้นแล้ว ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น เมื่อนำไปใช้งานต่อจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
นอกจากนี้ ตอนที่เครื่องใช้ไฟฟ้าจมอยู่ในน้ำ อาจมีฝุ่นผงหรือสัตว์บางชนิดเข้าไปติดอยู่ ซึ่งถ้านำไปใช้งานทั้งที่ยังมีสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นโดยที่เราไม่รู้ตัว เมื่อเครื่องจักรกลหมุน อาจเกิดการติดขัด ทำให้เครื่องเสีย รวมถึงเกิดไฟไหม้ได้
สำหรับใครที่ตอนนี้กำลังประสบภัยน้ำท่วม หรืออยู่ในช่วงเฝ้าระวังสถานการณ์ อย่าลืมเตรียมความพร้อมเรื่องระบบไฟฟ้าให้ดี และระมัดระวังการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพื่อป้องกันอันตรายต่อชีวิตและทรัพยสิน
บทความที่เกี่ยวข้อง
รวมปัญหาเรื่องบ้าน ที่มาพร้อมหน้าฝน
รวมปัญหาหน้าฝน ที่ชาวคอนโดอาจต้องเจอ
ซื้อคอนโดหน้าฝน มีข้อดีอย่างไรบ้าง ? รวมข้อดีในการซื้อคอนโดช่วงฤดูฝนที่คุณอาจคาดไม่ถึง
หน้าฝนต้องระวัง! เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่เสี่ยงถูกฟ้าผ่า
ชอบการลงทุนอสังหา เพราะที่นี่เลย เข้าใจง่าย
ดีมากค่ะ มีประโยชน์มากๆเลยค่ะ
รายละเอียดครบ ชัดเจอดีค่ะ
ขอบคุณที่ผลิตบทความดีๆ มาให้อ่านครับ
อ่านเพลินดี ชอบค่ะ