News

28 ก.ค.ชี้ชะตารถไฟไทย จีน บีบลดค่าก่อสร้าง-จ้างที่ปรึกษา

LivingInsider Report 2016-07-28 12:53:34

 

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า วันที่ 28 ก.ค. 2559 จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 12 จะเร่งสรุปวงเงินลงทุนก่อสร้างทั้งโครงการในเฟสแรกจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กม. เนื่องจากราคาทั้ง 2 ฝ่ายยังต่างกันอยู่ประมาณ 400-500 ล้านบาท โดยฝ่ายไทยคำนวณออกมาอยู่ที่ประมาณ 179,320 ล้านบาท ขณะที่ฝ่ายจีนอยู่ที่ประมาณ 179,800 ล้านบาท



"การประชุมครั้งที่ 12 อาจจะมีข้อยุติเรื่องราคา โดยเฉพาะเรื่องค่าจ้างที่ปรึกษาที่ฝ่ายไทยยังไม่เห็นด้วยกับวงเงินที่ฝ่ายจีนเสนอวงเงินค่าจ้างมา 3.5-4.5% ของมูลค่าโครงการ หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท จะขอให้คิดที่ 1.25% หรืออยู่ที่กว่า 1,000 ล้านบาท จะต้องตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมด"



อีกทั้งยังจะหารือถึงการลงนามในกรอบความร่วมมือหรือ Framework of Cooperation (FOC) เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งลงนามสัญญาโครงการใหม่ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (EPC-1) ฝ่ายไทยจะเป็นผู้ดำเนินการเองและ 2.งานระบบรางและรถไฟความเร็วสูง (EPC-2) ฝ่ายจีนจะเป็นผู้คัดเลือกรัฐวิสาหกิจของจีนโดยได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายไทยให้เป็นผู้ดำเนินการ รวมทั้งงานออกแบบรายละเอียดของงานโครงสร้างพื้นฐาน ฝ่ายไทยจะใช้แบบรายละเอียดคัดเลือกบริษัทก่อสร้างของไทยเป็นผู้ก่อสร้าง และฝ่ายไทยและจีนจะร่วมกันกำกับและตรวจสอบคุณภาพการก่อสร้างงานโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามมาตรฐานของระบบรถไฟความเร็วสูงของจีน



แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับการก่อสร้าง ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงร่วมกัน แบ่งเป็น 4 ช่วง จะเริ่มสร้างช่วงสถานีกลางดง-สถานีปางอโศก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ระยะทาง 3.5 กม. เป็นลำดับแรก ซึ่งจะหารือถึงรายละเอียดการก่อสร้างและเงินลงทุนในที่ประชุมครั้งที่ 12 นี้ด้วยเพื่อให้โครงการเปิดประมูลในเดือน ส.ค.และเริ่มสร้างเดือน ต.ค.นี้ โดยใช้เงินกู้ในประเทศมาก่อสร้าง



ส่วนการก่อสร้างช่วงที่ 2 ระยะทาง 10 กม. จากปากช่อง-คลองขนานจิตรกำหนดส่งแบบรายละเอียดเดือน ต.ค. ช่วงที่ 3 ระยะทาง 100 กม. จากแก่งคอย-โคราช (เว้นพื้นที่ช่วงแรก) กำหนดส่งแบบรายละเอียดเดือน ธ.ค.และช่วงที่ 4 ระยะทาง 119 กม. จากกรุงเทพฯ-แก่งคอย กำหนดส่งแบบรายละเอียดเดือน ก.พ. 2560 ค่าก่อสร้างเฉลี่ยอยู่ที่ 500 ล้านบาท/กม.

 

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติ่มได้ที่

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1469623212

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider