News

รถไฟฟ้าพลิกทำเลคอนโด ตลาดพลู-สะพานใหม่ บูมแสนล้าน

LivingInsider Report 2018-01-26 11:13:36

รถไฟฟ้าพลิกทำเลคอนโด “ตลาดพลู-สะพานใหม่”บูมแสนล้าน

 

รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย พลิกทำเลชานเมือง “บางหว้า-ตลาดพลู-สำโรง-เสนานิคม-สะพานใหม่” อสังหาฯแห่ลงทุนเกินแสนล้าน แบรนด์ใหญ่ชิงปักธงดงคอนโดฯ หน้าใหม่รับดีมานด์ตลาด 2-3 ล้าน/ยูนิต “อนันดา” ยึดสีเขียว อ่อนนุช-ปู่เจ้าสมิงพราย 13 โครงการ “ออริจิ้น” ทุ่ม 2.5 หมื่นล้าน ลุยชานเมือง ชี้รัชโยธิน-เสนานิคม” แข่งเดือด “เอพี” ยึดสถานีบางหว้า “BTS-แสนสิริ” จ่อเปิดเดอะเบส ส.ค.นี้ ตระกูล “ธรรมวัฒนะ” ทุ่ม 2 พันล้าน สร้างสกายวอล์กรับทำเลฮอต

 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ราคาที่ดินในเมืองที่แพงลิบลิ่ว โดยมีรถไฟฟ้าเป็นปัจจัยหนุน กำลังกดดันให้บริษัทพัฒนาที่ดินเร่งปรับตัวรับมือ เพื่อพัฒนาโครงการใหม่ให้ขายได้ต่อเนื่อง

 

ล่าสุด มีการซื้อขายที่ดินย่านหลังสวนถึงตารางวาละ 3 ล้านกว่าบาท ยิ่งเป็นแรงบีบให้ทุกค่ายหันไปมองทำเลชานเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะ “ส่วนต่อขยาย” รถไฟฟ้าสายสีเขียว “แบริ่ง-สมุทรปราการ” ที่จะเปิดในเดือน ธ.ค.2561 และ “หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” จะเปิดในปี 2563

 

รุมเปิด 3 หมื่นยูนิต

 

นายสุรเชษฐ กองชีพ ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทำเลสายสีเขียวส่วนต่อขยายได้รับความสนใจมาก เพราะเป็นเส้นทางเข้าเมือง จากปี 2557-2560 มีคอนโดฯเปิดแล้ว 17 โครงการ จากแบริ่ง-ปากน้ำ รวม 16,350 ยูนิต

 

เช่น เดอะคาบาน่าของ บมจ.ออริจิ้น, เมโทรโปลิส สำโรง ของ บจ.เมโทรโปรลิส พร็อพเพอร์ตี้, ลุมพินีมิกส์ เทพารักษ์-ศรีนครินทร์ ของ บมจ.แอล.พี.เอ็นฯ, ไอดีโอเอส 115 และยูนิโอ สุขุมวิท 72 ของ บมจ.อนันดาฯ, เดอะ คิทท์ พลัส สุขุมวิท 113 ของ บมจ.เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ เป็นต้น

 

หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มี 32 โครงการ 15,042 ยูนิต อาทิ บีคอนโด ของ บจ.เคซี พร็อพเพอร์ตี้, พาร์ค เรสซิเดนท์ของ บจ.แคปปิตอล วัน เรียลเอสเตท, ศุภาลัย คิวท์ รัชโยธิน-พหลโยธิน 34, เมโทรลักซ์ เกษตร-นวมินทร์ ของ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค, ไนท์บริดจ์สกายซิตี้ สะพานใหม่ ของ บมจ.ออริจิ้น, โมดิช สเตชั่นของอสังหาฯหน้าใหม่ แอสเซทไวท์ เป็นต้น ซึ่งปี 2561 มีเปิดใหม่อีก 2-3 โครงการ ของเอสซี แอสเสท และออริจิ้น

 

“บางหว้า-ตลาดพลู” ฮิต

 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หากข้ามฝั่งไปธนบุรีช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เกิดการลงทุนหนาแน่น ทุกแบรนด์มาหมด โดยเฉพาะสถานีปลายทางบางหว้าจะเป็นจุดตัดกับสายสีน้ำเงิน เกิดเป็น “ดงคอนโดฯ” เหมือนแบริ่ง สำโรง รัชโยธิน สะพานใหม่

 

รวมถึง “สถานีตลาดพลู” ที่ตัดกับถนนรัชดาภิเษก และเป็นต้นทางของถนนราชพฤกษ์ กัลปพฤกษ์ ทำให้เป็นทำเลยอดนิยม ราคาขายเฉลี่ยยูนิตละ 1-2 ล้านบาท โดยมีคาซ่า คอนโดฯ 2 โครงการของคิวเฮ้าส์ในเครือแลนด์ฯ ชิงธงปักหมุดมาแต่เริ่มและอยู่ติดสถานีตลาดพลู ขณะที่กลุ่มพาร์คแลนด์และอนันดาฯถือว่าเป็นผู้บุกเบิกเช่นเดียวกัน

 

ล่าสุด บริเวณเชิงสะพานรัชดา-ท่าพระ (ตลาดพลู) ที่ดินแปลงใหญ่ใกล้กับไลฟ์คอนโดฯของเอพี มีการรื้อถอนปักป้ายกั้นสังกะสีแล้ว คาดว่าจะเป็นของกลุ่มแสนสิริส่วนโครงการใหม่ ๆ ในทำเลบางหว้า จะมีเดอะ เพรสซิเดนซ์ ของ บจ.ชัยพัฒนาที่ดิน เปิด 3 เฟส ราคา ตร.ม.ละ 77,000 บาท และโครงการ ASPIRE ของ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) ที่โฆษณาว่า “คอนโดใหม่ 1 ก้าวสู่สถานีบางหว้า อินเตอร์เชนจ์” เริ่มขายยูนิตละ 1.89 ล้านบาท

 

นายสุรเชษฐกล่าวเสริมว่า โครงการชีวาทัย เพชรเกษมก็เพิ่งมาลงทุน 638 ยูนิต ราคา 85,000 บาทต่อ ตร.ม. ทำเลบางหว้าจะเริ่มคึกคักขึ้น หลังสายสีน้ำเงินเปิดเชื่อมปี 2563

 

“ตลาดพลูไม่มีที่ดินใกล้สถานีในการพัฒนาคอนโดฯ หากพัฒนาต้องห่างจากสถานีไป 700 เมตร ราคาที่เฉลี่ยตารางวาละ 3-5 แสนบาท ส่วนวุฒากาศมี 2 คอนโดฯ เหลือขายไม่มาก แต่ที่ดินรอบสถานีไม่มีแล้ว ต้องขยับออกไป ส่วนใหญ่เป็นอพาร์ตเมนต์”

 

สะพานใหม่ฮอต

 

“ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ เป็นทำเลที่คนสนใจมาก มีอัตราการดูดซับอยู่ที่ 80% เพราะเดินทางสะดวก ต่อเดียวถึงที่หมาย และมีศูนย์การค้า สำนักงาน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ราคาขายต่อ ตร.ม.อยู่ที่ 80,000-160,000 บาท ส่วนราคาที่ดินแพงสุดคือรัชโยธิน ตร.วาละ 1-5 แสนบาท แถวนี้ยังมีอีกหลายแปลงที่รอพัฒนา” นายสุรเชษฐกล่าว

 

เมื่อเดือน ก.ย. 2560 “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจทำเลพบว่าสายสีเขียวต่อขยายมีคอนโดฯจำนวนมาก ทั้งสถานีหมอชิต-สถานีสายหยุด เป็นอาคารสูง 8 ชั้น และขนาดใหญ่ รวม 37 โครงการ รวม 19,198 ยูนิต เป็น 11 โครงการเก่า 26 โครงการใหม่ อาทิ บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์, บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้, บีทีเอส-แสนสิริ, บมจ.เอพี (ไทยแลนด์), บมจ.แอล.พี.เอ็น, กลุ่มพรเพิ่มพูนกับพรีบิลท์, บจ.สิริพัฒน์ กรุ๊ป, บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท

 

เสนาฯ แบรนด์ชนแบรนด์

 

ที่น่าสนใจคือสถานีรัชโยธิน-เสนานิคม มีรายใหญ่ซื้อที่ดินพัฒนารับรถไฟฟ้าทั้ง แอล.พี.เอ็น.ขึ้น “ลุมพินี พาร์ค พหลโยธิน 32” มูลค่า 1,900 ล้านบาท สูง 30 ชั้น 546 ยูนิต ขนาด 24-46 ตร.ม. เปิดตัวปลายปีที่แล้ว ราคาเฉลี่ย 135,000 บาทต่อ ตร.ม.

 

บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น เปิดตัว “เซ็นทริค รัชโยธิน” ห่างสถานี 150 เมตร สูง 21 ชั้น 261 ยูนิต ขนาด 25 ตร.ม. ราคาเริ่มยูนิตละ 3.7 ล้านบาท, บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเมนท์ เปิด “เอลลิโอ เดล มอสส์” พหลโยธิน 34 (เสนานิคม 2) เนื้อที่ 13 ไร่ ห่างสถานีเสนานิคม 1.2 กม. เป็นคอนโดฯ 8 ชั้น 6-8 อาคาร 1,552 ยูนิต มูลค่า 3,363 ล้านบาท ราคายูนิตละ 1.59 ล้านบาท, กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนาซื้อที่ดินตรงข้ามรัชโยธิน เตรียมขึ้นโครงการใหม่เร็ว ๆ นี้

 

แกรนด์ยูลุย 3 โปรเจ็กต์ยักษ์

 

บจ.แกรนด์ ยูนิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ ในเครือยูนิเวนเจอร์เปิด 4 โครงการใหม่ปีนี้ มูลค่า 12,000 ล้านบาท มี 3 โครงการอยู่ในแนวสายสีเขียวส่วนต่อขยายคือ Denim จตุจักร พหลโยธิน 18 สูง 30 ชั้น,

 

แมสซารีน รัชโยธิน เป็นแฟลกชิปของบริษัท ตรงข้ามเมเจอร์รัชโยธินและเซียล่า ศรีปทุม อยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยศรีปทุม ติดสถานีบางบัว สูง 24 ชั้น ราคาขาย 90,000-110,000 บาท/ตร.ม.

 

ล่าสุด “บีทีเอส-แสนสิริ” ซื้อที่ดินติดปั๊มน้ำมัน ปตท.และสถานีสายหยุด ราคา 300,000 บาทต่อ ตร.ว. เตรียมขึ้นคอนโดฯ “เดอะเบส” จะเปิดขาย ส.ค.นี้

 

อนันดายึดหัวหาด

 

นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานกรรมการบริหาร บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเมนท์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อนันดาขยายการลงทุนตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยายไปยังชานเมืองมากขึ้น เพื่อพัฒนาตลาดแมส ราคาไม่เกิน 7-8 หมื่นบาทต่อ ตร.ม. เป็นกลุ่มลูกค้าที่จับต้องได้ เพราะที่ดินแพงขึ้นมาก ถ้าซื้อมาแพง เราก็ต้องพัฒนาแล้วขายในราคาที่สูงขึ้นอีก ทั้งเราและคนซื้อก็จะเหนื่อย

 

“บีทีเอสสายสุขุมวิทถือเป็นสายหลักที่วิ่งสู่ใจกลางเมืองเร็วที่สุด อนันดาลงทุนคอนโดฯทำเลส่วนต่อขยายสายนี้รวม 13 โปรเจ็กต์ ตั้งแต่อ่อนนุช-ปู่เจ้าสมิงพราย ตอนนี้สี่แยกบางนา เราครองหมดแล้ว รวมทั้งอุดมสุข นอกจากบางนาเราจะขยายไปสาทร ท่าพระ ส่วนสะพานใหม่-คูคต เรามีโครงการที่สะพานควาย จตุจักร และเสนานิคม คอนโดฯชานเมืองปากน้ำ นนทบุรี ตลาดยังไปได้ ราคา 70,000-80,000 บาทต่อ ตร.ม.”

 

ออริจิ้นผุด 32 โครงการ

 

นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานบริหาร บมจ.ออริจิ้น เปิดเผยว่า บริษัทเน้นลงทุนแนวสายสีเขียวส่วนต่อขยายรัศมี 400-500 เมตรจากสถานี เพราะมีดีมานด์

 

เจาะตลาดระดับราคา 2 ล้านต้น ๆ

 

หมอชิต-คูคต บริษัทเน้นลงทุนแค่สถานีสายหยุดใกล้ตลาดสะพานใหม่ โดยมี 10 กว่าโครงการ รวมมูลค่า 15,000 ล้านบาท ราคาขาย 1.5-1.7 แสนบาทต่อ ตร.ม. เดือนมี.ค.นี้จะเปิดขาย “ไนท์บริดจ์ สเปช รัชโยธิน” มูลค่า 2,500 ล้านบาท ใกล้สถานีพหลโยธิน 24

 

ส่วนแบริ่ง-สมุทรปราการ มี 22 โครงการ ประมาณ 10,000 ยูนิต มูลค่า 20,000 ล้านบาท กระจายทุกสถานี เฉพาะแบริ่งมี 15-16 โครงการ สำโรง-สมุทรปราการ 7 โครงการ ปี 2561 จะเปิดอีก 3 โครงการ อยู่แบริ่ง 2 โครงการ และปู่เจ้าสมิงพราย 1 โครงการ มูลค่ารวม 1,800 ล้านบาท เป็นแบรนด์ “ไนทบริดจ์และดีลอฟท์” ราคาขาย 80,000-120,000 บาทต่อ ตร.ม.

 

“กลุ่มลูกค้าจะต่างกัน ทำเลแบริ่งเป็นชุมชนเก่า นิคมอุตสาหกรรม ส่วนสะพานใหม่เป็นกลุ่มออฟฟิศ มหา”ลัย เศรษฐีห้องแถว”

 

หลังสร้างรถไฟฟ้า ราคาที่ดินแพงขึ้น สำโรง-ปากน้ำ ตารางวาละ 80,000-150,000 บาท แบริ่ง 300,000 บาท รัชโยธิน 600,000-700,000 บาท ล่าสุดตั้งราคาขายไว้ 1 ล้านบาทแล้ว คอนโดฯ เลยแพงขึ้น

 

“ประเมินแล้วการพัฒนาคอนโดฯ ทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ในสายสีเขียว มีมูลค่าเกิน 100,000 ล้านบาท” นายพีระพงศ์กล่าว

 

ริชี่เพลซลุยมิกซ์ยูส

 

ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ริชี่เพลซ 2002 กล่าวว่า ได้เปิดขาย “ริชพาร์ค เทอมินอล หลักสี่สเตชัน” ติดสถานีส่วนต่อขยาย เป็นคอนโดฯไฮไรส์ 14 ชั้น มูลค่า 1,600 ล้านบาท พร้อมปรับเป็นมิกซ์ยูสมีพื้นที่รีเทล ราคาขาย 90,000 บาทต่อ ตร.ม.

 

ทุ่ม 2 พัน ล.ปรับโฉมตลาด

 

นายอริย ธรรมวัฒนะ กรรมการบริหาร บริษัท สุวพีร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้บริหารตลาดยิ่งเจริญ กล่าวว่า ตลาดยิ่งเจริญเข้าสู่ปีที่ 63 เตรียมลงทุน 2,000 ล้านบาท พัฒนาตลาด 30 ไร่รองรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีสถานีหน้าตลาด ทั้งสร้างสกายวอล์กเชื่อมสถานีรถไฟฟ้า ปรับโฉมตลาด old town ให้เป็นตลาดสดมาตรฐาน และ new town เป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์

 

“ตลาดยิ่งเจริญกำลังก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 7 พร้อมเป็นตลาดสดยุคไทยแลนด์ 4.0 พัฒนาเป็นกรีนมาร์เก็ต นำนวัตกรรม เทคโนโลยีเข้ามาเสริม เช่น ตลาดสดออนไลน์”

 

ธอส.ชี้ไม่โอเวอร์ซัพพลาย

 

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า สถิติการเปิดตัวคอนโดฯ ทำเลสายสีเขียวส่วนต่อขยายมียูนิตสะสม 10,800 หน่วย มูลค่ารวม 58,000 ล้านบาท โฟกัสรัศมี 500 เมตร จากรถไฟฟ้า 17 สถานี ราคาขายเฉลี่ย 93,000 บาทต่อ ตร.ม.

 

เทียบราคาต่ำสุด 50,000 บาทต่อ ตร.ม. แพงสุดอยู่ที่ 170,000-180,000 บาทต่อ ตร.ม. ทำให้ซัพพลายและดีมานด์มีอัตราขายเฉลี่ย 7% เทียบกับอัตราขายเฉลี่ย 4-5% ของตลาดรวมทำเลรถไฟฟ้าสายอื่น ไม่น่ากังวลเรื่องปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย

 

“ใน 17 สถานีมีทำเลฮอต 4-5 สถานี คือ ม.เกษตร หลักสี่ สะพานใหม่ ด้านราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 40%” ดร.วิชัยกล่าว

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

https://www.prachachat.net/breaking-news/news-106975

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider