News

จุดพลุสระบุรี-ปากช่อง-โคราช เมืองใหม่ไฮสปีดสายอีสาน

LivingInsider Report 2017-07-18 11:55:00

 

 

การพัฒนาเมืองและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนหรือ TOD เป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะทำให้โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ไปสู่ความสำเร็จมากขึ้น

 

กับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ให้เป็นรายได้ที่ไม่ได้มาจากการเดินรถ ที่สามารถนำมาคืนทุนให้กับโครงการและทำให้มีผลตอบแทนทางการเงินดีขึ้น ที่จะดึงดูดความสนใจในการลงทุนในโครงการรถไฟ ชดเชยกับการที่รัฐบาลต้องใช้เม็ดเงิน 179,412.21 ล้านบาทลงทุนโครงการ

 

ในผลศึกษาระบุชัดเจนรถไฟความเร็วสูงสายอีสาน ที่ “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ประกาศกร้าวจะเป็นสายแรกของประเทศไทย มีผลตอบแทนทางการเงิน หรือ FIRR ติดลบ แต่ในด้านเศรษฐกิจ หรือ EIRR จะอยู่ที่ 8.56%

 

หากเจาะลึกดูผลตอบแทน EIRR ในเชิงเศรษฐกิจทางกว้าง จากการขยายตัวเมือง พัฒนาเชิงพาณิชย์ จะอยู่ที่ 11.68% และ FIRR อยู่ที่ 2.5% ขณะที่จุดคุ้มทุนโครงการ ต้องใช้เวลามากกว่า 35 ปี

 

ตลอดเส้นทาง 253 กม. มีทั้งหมด 6 สถานี ได้แก่ บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่องและนครราชสีมา โดยมี 2 สถานีสร้างบนพื้นที่ใหม่ มี “สระบุรี” อยู่ฝั่งตรงข้ามศูนย์การค้าโรบินสัน ถนนเลี่ยงเมือง ห่างจากสถานีเดิม 3 กม.และ “ปากช่อง” สร้างบนที่ราชพัสดุปัจจุบันเป็นกองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 2 ของกองทัพบก

 

จากการสำรวจมี 3 สถานีจะนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อเพิ่มรายได้ ได้แก่ สระบุรี 90 ไร่ ปากช่อง 541 ไร่ และนครราชสีมา 272 ไร่ ขณะที่สถานีเชียงรากน้อย 1,000 ไร่ จะเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงและควบคุมการเดินรถ

 

ด้านรูปแบบการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานี มี 3 รูปแบบ คือ พื้นที่ในอาคารสถานี พื้นที่บริเวณส่วนต่อจากอาคารสถานีและพื้นที่อาคารนอกสถานีแต่อยู่ในเขตทาง โดยมีแนวคิดพัฒนาให้เป็นเมืองธุรกิจ หรือ CBD

 

โดยคาดว่าในระยะเวลา 30 ปี ทั้ง 3 สถานีจะสร้างรายได้ 31,695 ล้านบาท นับเป็นโครงการใหญ่ สุดท้าทายยิ่งนัก

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

https://www.prachachat.net/property/news-6499

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider